นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์ ในฐานะประธานกรรมการธนาคารออมสิน เปิดเผยหลังเข้ารับตำแหน่งประธานบอร์ดออมสินว่า นโยบายหลักยังคงให้ออมสินขับเคลื่อนเป็นธนาคารเพื่อสังคมต่อ แต่ได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายเข้าไปศึกษาการแก้กฎหมายพ.ร.บ.ออมสิน เพิ่มความคล่องตัวในการบริหารงาน สามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มอำนาจในการจัดตั้งบริษัทลูกได้ ซึ่งปัจจุบันยังไม่เปิดทางให้ออมสินจัดตั้งเองได้ เพียงแค่เปิดให้เข้าไปร่วมลงทุนกับบริษัทอื่น รวมถึงการเปิดทางให้ออมสินขยายสาขาไปตั้งยังประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น
ทั้งนี้ การให้พิจารณาแก้กฎหมายครั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าจะให้ออมสิน ขยายบทบาทเข้าไปแข่งกับธนาคารพาณิชย์ หรือแย่งชิงกำไรกับเอกชน แต่เป้าหมายหลักยังคงตัวตนในการเป็นธนาคารรัฐ ที่เน้นช่วยเหลือประชาชนฐานราก และเข้าไปสร้างความเป็นธรรมในระบบการเงินดูแลผู้มีรายได้น้อย เพราะบางอย่างมีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มบทบาทหน้าที่ หากทำในรูปแบบธนาคารรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจก็อาจไม่คล่องตัว หรือหากไปร่วมทุนกับเอกชน ก็อาจยังมีมุมมองในเรื่องผลกำไร ทำให้ไม่สามารถช่วยประชาชนได้อย่างที่ตั้งใจ
อย่างไรก็ตาม การพิจารณาแก้ พ.ร.บ.ออมสิน ครั้งนี้ จะไม่กระทบต่อแผนเดินหน้าธุรกิจขายฝากที่ดิน หรือการทำ นอน แบงก์ของรัฐ ที่กำลังทำขณะนี้ โดยธนาคารมีแผนทำให้เสร็จโดยเร็ว ซึ่งเป็นเหมือนเฟสสอง ต่อจากโครงการสินเชื่อจำนำทะเบียนรถที่ธนาคารร่วมมือกับพันธมิตรไปก่อนหน้านี้ เนื่องจากปัจจุบันธุรกิจขายฝากคิดดอกเบี้ยสูงมาก ดังนั้นการที่ธนาคารออมสินจะมาเป็นหนึ่งในผู้เล่นในตลาด เพื่อช่วยกดให้ดอกเบี้ยต่ำลง เปลี่ยนแปลงโครงสร้างดอกเบี้ยในตลาดให้เหมาะสม จะช่วยให้ประชาชนลดการพึ่งพิงเงินกู้นอกระบบก็เป็นสิ่งที่ดี ซึ่งระหว่างนี้หากเจอพันธมิตรที่เหมาะสม ก็สามารถเดินหน้าต่อโดยไม่จำเป็นต้องรอแก้กฎหมายให้เสร็จ
นายประภาศกล่าวว่า ในบรรดาธนาคารรัฐทั้งหมด มองว่ากฎหมายของออมสินค่อนข้างเข้มงวด เนื่องจากพื้นฐานของออมสินเป็นธนาคารของรัฐ ดังนั้นการปรับแก้กฎหมายต้องพิจารณาไม่ให้ขัดกับหลักการของธนาคาร ซึ่งจุดนี้สำคัญมาก เช่น ปัจจุบันออมสินไม่สามารถตั้งบริษัทลูกขึ้นมาทำธุรกิจนอนแบงก์ได้ ดังนั้น ณ วันนี้หากออมสินต้องการจะดำเนินธุรกิจหลากหลายขึ้น ออมสินเข้าไปถือหุ้นใหญ่ก็จะต้องเป็นลักษณะการดำเนินงานในรูปแบบรัฐวิสาหกิจที่ไม่คล่องตัวเท่ากับบริษัท หรือการเข้าไปร่วมกับเอกชนก็อาจจะไม่ตรงกับเป้าหมายของธนาคาร เพราะเอกชนย่อมมีความคาดหวังต่อกำไรหรืออัตราผลตอบแทนที่สูงอยู่แล้ว
ดังนั้น หากธนาคารออมสินสามารถตั้งบริษัทลูกเองได้ ก็จะช่วยเหลือประชาชนได้มากขึ้น เพราะออมสินถือหุ้นเอง ก็ไม่ต้องคิดในเชิงผลกำไรสูงเกินไป ซึ่งตรงนี้ถือเป็นเจตนารมณ์ที่ต้องการเข้าไปศึกษาการแก้ไขกฎหมาย โดยอาจจะใช้เวลาแก้อีกระยะหนึ่งเพราะต้องผ่าน ครม. ผ่านกฤษฎีกา สภาผู้แทนฯ และวุฒิสภาด้วย รวมถึงกรณีถ้าอยากออกไปตั้งสาขาต่างประเทศ ก็สามารถเข้าไปร่วมกับธนาคารอื่นในประเทศเพื่อนบ้านได้ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาส สร้างภาพลักษณ์ที่ดีของธนาคารในอนาคต