เมื่อวันที่ 20 มี.ค. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์  ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ หัวหน้าทีมนโยบายเศรษฐกิจเพื่อนชัชชาติ นางปวีณา หงสกุล พร้อมด้วยผู้นำชุมชนเขตสายไหมกว่า 70 คน ร่วมกันเปิดสำนักงานเพื่อนชัชชาติ กรุงเทพเหนือ ถนนสุขาภิบาล 5 เขตสายไหม

เพิ่มช่องทางการร้องเรียนปัญหา กทม. เสริมประสิทธิภาพสภากาแฟและไลน์เพื่อนชัชชาติ จากนั้นจึงร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็นผู้นำชุมชนเขตสายไหม ในเวทีประชาคมสะท้อนปัญหาในพื้นที่ ก่อนที่จะเสนอแนะแนวนโยบายในการแก้ปัญหา 

นายชัชชาติ กล่าวว่า สำนักงานเพื่อนชัชชาติ กรุงเทพเหนือ เป็นสำนักงานเพื่อนชัชชาติแห่งแรก ตั้งอยู่ที่ ถนนสุขาภิบาล 5 เขตสายไหม โดยเขตสายไหมเป็นพื้นที่ที่มีประชากรอยู่อาศัยมากที่สุดใน กทม. จำนวนกว่า 207,068 คน และมีประชากรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลให้การอำนวยความสะดวกจากภาครัฐอย่างระบบสาธารณูปโภคไม่สามารถอำนวยความสะดวกได้ทันท่วงที

สำนักงานเพื่อนชัชชาติจึงขอเป็นพื้นที่รับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะต่อนโยบายทีมเพื่อนชัชชาติ และเป็นการเพิ่มช่องทางให้ชุมชนสามารถเข้าถึงการร้องเรียนปัญหาที่พบในชีวิตประจำวันผ่านช่องทางออนไลน์ ผ่านไลน์ออฟฟิเชียลเพื่อนชัชชาติ และแอพพลิเคชั่นทราฟีฟองดูว์ ที่มีการรายงานปัญหาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งช่องทางสภากาแฟ เพื่อนชัชชาติ ที่กระจายตัวกว่า 300 แห่ง ครอบคลุม 50 เขต กทม. 

ขณะที่ นางปวีณา กล่าวว่า ตนเองขณะดำรงตำแหน่ง รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เคยร่วมงานกับ นายชัชชาติ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่ง รมว.คมนาคม เล็งเห็นความสามารถและความทุ่มเททำงานจริงของนายชัชชาติ จึงพร้อมสนับสนุนโดยเชิญผู้นำชุมชนในเขตสายไหมกว่า 70 คน รับฟังวิสัยทัศน์และนโยบายการพัฒนา กทม.

โดยผู้นำชุมชนได้สะท้อนปัญหาในหลายด้าน อาทิ ปัญหาการจราจรติดขัดโดยเฉพาะบน ถนนสายไหม และ ถนนสุขาภิบาล 5 ปัญหาระบบขนส่งสาธารณะไม่ครอบคลุม ปัญหาขยะ รวมทั้งปัญหาน้ำท่วมขัง ไฟฟ้าส่องสว่างไม่เพียงพอ ทางม้าลายไม่ชัดเจน ตลอดจนขาดแคลนศูนย์ดูแลเด็กอ่อนและคนสูงอายุในชุมชนอีกด้วย

นอกจากนี้ นายชัชชาติ พร้อมคณะ ได้ปั่นจักรยาน สำรวจพื้นที่ชุมชนวัดหนองใหญ่และชุมชนรัชดาออเงิน ซอยสุขาภิบาล 65 ร่วมกับชมรมจักรยานสายไหม พร้อมพูดคุยกับประชาชนในพื้นที่ พบปัญหาชุมชนตั้งในที่ดินตาบอด แวดล้อมด้วยแปลงที่ดินเอกชน ยังไม่มีการเจรจายกทางเข้าออกชุมชนเป็นพื้นที่สาธารณะ ส่งผลให้ กทม. ไม่สามารถพัฒนาท่อระบายน้ำได้ เกิดเหตุน้ำท่วมขังหากฝนตกหนักบ่อยครั้งและยังพบปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัยเนื่องจากเช่าที่ดิน 

จึงเสนอนโยบายสนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยตามแนวคิดบ้านมั่นคง ผ่านความร่วมมือชุมชน กทม. และภาครัฐที่เกี่ยวข้อง พร้อมส่งเสริมการออมและเข้าถึงแหล่งเงินทุนตั้งแต่ระดับครอบครัวถึงระดับชุมชน ให้ชุมชนต่างๆ สามารถรวมรวมเงินทุนเพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัยและสาธารณูปการที่จำเป็นได้.