เนื่องจากปัจจุบัน เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และคอมพิวเตอร์ นับเป็นเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลง อย่างรวดเร็ว และเป็นที่ต้องการของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่หลากหลายดังนั้นการสร้าง “คน AI” จึงมีความสำคัญเพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ใน 7 ด้าน คือ 1.ด้านการแพทย์และวิทยาศาสตร์ชีวภาพ 2.ด้านการเงินและธุรกิจ 3.ด้านการศึกษา 4.ด้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ 5.ด้านโลจิสติกส์ 6. ด้านอุตสาหกรรมเกษตรอาหาร และ 7. ด้านเศรษฐกิจดิจิทัล

การสร้าง “คน AI” จะถูกสร้างผ่านกลไกของระบบการศึกษายุคใหม่ คือ หลักสูตรแซนด์บอกส์ เพื่อพัฒนากำลังคนด้านวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI และคอมพิวเตอร์ให้กับประเทศ โดยมีคณาจารย์จากเครือข่ายมหาวิทยาลัยปัญญาประดิษฐ์ไทย 6 แห่ง ร่วมกันดำเนินการ ได้แก่ ม.ซีเอ็มเคแอล สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ม.มหิดล ม.ขอนแก่น ม.เชียงใหม่ และ ม.สงขลานครินทร์ ผ่านการดำเนินการร่วมภายใต้สถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งจะเป็นหน่วยงานภายใต้มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล ที่มีหน้าที่ช่วยขับเคลื่อนการดำเนินงานระหว่างเครือข่ายมหาวิทยาลัย มีการแบ่งปันทรัพยากรระหว่างมหาวิทยาลัย เปิดโอกาสให้นักศึกษาสามารถเข้าร่วมศึกษาแลกเปลี่ยนและปฏิบัติงานวิศวกรรมและวิจัยกับทีมงานระหว่างมหาวิทยาลัยได้

“กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) กำลังจัดทำหลักสูตรแซนด์บอกส์ เพื่อพัฒนากำลังคนด้านวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI และคอมพิวเตอร์ให้กับประเทศ โดยเป็นความร่วมมือของ 6 มหาวิทยาลัย ได้แก่ ม.ซีเอ็มเคแอล สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ม.มหิดล ม.ขอนแก่น ม.เชียงใหม่ และ ม.สงขลานครินทร์ ผ่านการดำเนินการร่วมภายใต้สถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ ทั้งนี้ การจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรดังกล่าวจะเน้นสมรรถนะของผู้เรียน ผ่านการจัดการศึกษาร่วมกันของทั้ง 6 มหาวิทยาลัย โดยนักศึกษาสามารถเรียนในบางรายวิชาข้ามมหาวิทยาลัยได้ ซึ่งมีทั้งเรียนแบบในชั้นเรียนและแบบออนไลน์” ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อว.กล่าวถึงการพัฒนากำลังคนด้าน AI ให้กับประเทศ พร้อมระบุว่า

“หลักสูตรนี้จะเน้นการพัฒนากำลังคนด้าน AI เพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศใน 7 ด้าน คือ 1.ด้านการแพทย์และวิทยาศาสตร์ชีวภาพ 2.ด้านการเงินและธุรกิจ 3.ด้านการศึกษา 4.ด้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ 5.ด้านโลจิสติกส์ 6. ด้านอุตสาหกรรมเกษตรอาหาร และ 7. ด้านเศรษฐกิจดิจิทัล การจัดการเรียนการสอนในรูปแบบเน้นสมรรถนะ จะทำให้ผู้ประกอบการหรือองค์กรที่มีความต้องการรับบุคลากรด้าน AI ไปทำงานต่อ มีความชัดเจน นอกจากนี้ ยังทำให้มหาวิทยาลัยสามารถสร้างบุคลากรที่มีความหลากหลายของสมรรถนะ โดยไม่จำเป็นต้องคอยสร้างปริญญาใหม่ตลอดเวลา เช่น นักศึกษาบางคนอยากเน้นด้านความปลอดภัยไซเบอร์และด้าน AI นักศึกษาบางคนอยากเน้นด้านการออกแบบประสบการณ์และปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้และด้าน AI ก็ได้เช่นกัน การจัดเรียนการสอนในรูปแบบนี้จะทำให้นักศึกษามีทางเลือกเพื่อการเรียนรู้ที่หลากหลาย และปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมได้ โดยหลักสูตรนี้คาดว่าจะเริ่มจัดการเรียนการสอนได้ในปีการศึกษา 2565 นี้ ตั้งเป้าว่าในปี ‪2565-2572‬ จะผลิตผู้สำเร็จการศึกษาให้ได้ 1,000 คน หรือเฉลี่ย 200 คนต่อปี” รมว.อว.กล่าว

ขณะที่ ดร.อักฤทธิ์ สังข์เพ็ชร ผอ.โครงการคาร์เนกีเมลลอน- KMITL (Carnegie Mellon-KMITL) มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล ในฐานะแนนำผู้จัดทำหลักสูตรแซนด์บอกส์ เพื่อพัฒนากำลังคนด้านวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI และคอมพิวเตอร์ให้กับประเทศ กล่าวว่า หลักสูตรแซนด์บอกส์ด้านวิศวกรรม AI และคอมพิวเตอร์ เป็นหลักสูตรที่คณะทำงานถอดบทเรียนมาจากประสบการณ์การเรียนรู้ผ่านงานวิจัยและพัฒนาที่ทำร่วมกับมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน ประเทศสหรัฐอเมริกา มามากกว่า 12 ปี ซึ่งคาร์เนกีเมลลอนถือเป็นแหล่งกำเนิดของซอฟต์แวร์ AI ตัวแรก และเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของโลกในด้าน AI นักศึกษาที่เรียนในหลักสูตรนี้จะได้ลงไปทำงานจริงตั้งแต่ปีแรก ทั้งในฟาร์ม ในโรงงาน ในชุมชน ไปจนถึงองค์กรธุรกิจและเทคโนโลยีชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ

“ที่สำคัญ นักศึกษาจะได้ร่วมเรียนรู้จากคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญระดับโลกทั้งที่อยู่ที่ ม.ซีเอ็มเคแอล ม.คาร์เนกีเมลลอน และจากมหาวิทยาลัยชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งต่างมาช่วยกันพัฒนาและขับเคลื่อนการศึกษาและความรู้ด้านวิศวกรรม AI และคอมพิวเตอร์ของไทย เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเทคโนโลยี AI ที่แข่งขันในเวทีโลกได้” ดร.อักฤทธิ์ ระบุ

นี่คือก้าวสำคัญอีกก้าวของการปฎิรูปการอุดมศึกษาของประเทศในยุคของ ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์.