คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ (นิด้า) หลักสูตรวิทยาการการจัดการสำหรับนักบริหารระดับสูง รุ่นที่ 7 กลุ่ม HURWICZ เสนอแผนยุทธศาสตร์คาร์บอนเครดิตสำหรับประเทศไทยชี้ คาร์บอนเครดิต เป็นได้ทั้ง วิกฤต และ โอกาสทางเศรษฐกิจไทย ต้องกำหนดเป้าหมายการลดการปลดปล่อย การดูดซับ และการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ชัดเจน พร้อมส่งเสริมการปลูกป่าในทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง

คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) นำคณะผู้เข้าอบรมหลักสูตรวิทยาการการจัดการสำหรับนักบริหารระดับสูง (วบส.) รุ่นที่ 7 เดินทางไปศึกษาดูงานที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและวังจันทร์วัลเลย์ จังหวัดระยอง ระหว่างวันที่ 18-20 มีนาคม 2565 นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอรายงานการศึกษากลุ่ม และจัดกิจกรรมมอบทุนการศึกษา อุปกรณ์การเรียนการสอน ให้กับ โรงเรียนบ้านนอก อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี

รองศาสตราจารย์ ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรฯ กล่าวว่า วบส. เป็นหลักสูตรฝึกอบรมที่มุ่งเสริมสร้างศักยภาพนักบริหารระดับสูง ทั้งด้านวิสัยทัศน์ ภาวะผู้นำ และสมรรถนะด้านการบริหารทันยุคสมัย พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง สามารถแข่งขันได้ และประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน จึงเป็นการรวมตัวของข้าราชการ ผู้บริหารระดับสูง จากภาครัฐ เอกชน องค์กรชั้นนำต่างๆ ที่มีประสบการณ์และองค์ความรู้ที่หลากหลาย สำหรับปีนี้ มีผู้สนใจศึกษาเรื่องคาร์บอนเครดิต ซึ่งสอดคล้องกับการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP26) โดยการศึกษาเรื่องดังกล่าวของกลุ่ม HURWICZ จะทำให้เห็นภาพรวมว่าทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนจะมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้ไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-zero GHG Emissions) ได้อย่างไร

นายสิทธิชัย ตลับนาค รองประธานกลุ่ม HURWICZ ผู้เข้าอบรมหลักสูตร วบส. รุ่นที่ 7 กล่าวว่า จากการที่ทั่วโลกตระหนักถึงวิกฤตการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และมีเจตนารมย์ร่วมกันในที่ประชุม COP26 เพื่อมุ่งสู่การเป็น Net-zero GHG Emissions นั้น สำหรับประเทศไทยมีการวางยุทธศาสตร์ เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายนี้เช่นกัน ซึ่งนอกจาก ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกันลดการปล่อยมลพิษแล้ว จากการศึกษาของกลุ่ม ยังเห็นถึงโอกาสทางเศรษฐกิจจากวิกฤตครั้งนี้ เนื่องจากในอนาคตคาร์บอนเครดิตจะกลายเป็นสิ่งที่ทั่วโลกต้องการ เพื่อซื้อไปชดเชยคาร์บอนในส่วนที่ยังไม่สามารถลดได้ จึงเสนอเป็นนโยบาย สำหรับทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อให้เกิดโอกาสทางเศรษฐกิจของไทยจากคาร์บอนเครดิต

“ทุกภาคส่วนควรกำหนดนโยบายที่สอดคล้องไปในทางเดียวกัน โดยเฉพาะการส่งเสริมให้ภาคเกษตรกร ชุมชน หรือประชาชน เพิ่มการปลูกป่า เพื่อสร้างรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิต พัฒนาแพลตฟอร์มการซื้อขายให้องค์กรต่างๆ สามารถเข้าถึงได้ง่าย ส่วนภาคเอกชน ควรปลูกป่าเพื่อชดเชยการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในพื้นที่ของตนเอง หรือให้หน่วยงานรัฐ ภาคประชาชนปลูกแทน ด้านภาครัฐออกมาตรการทางกฎหมายเกี่ยวกับโลกร้อน มาตรการกองทุนเพื่อช่วยในการลดการปล่อยมลพิษกับการปลูกป่า เช่น ผู้ใดปลดปล่อย ผู้นั้นต้องจ่ายเข้ากองทุน ธนาคารให้เงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำสำหรับผู้ที่มีศักยภาพในการปลูกป่า สร้างกลไกธนาคารต้นไม้ ส่งเสริมให้ประชาชนปลูกต้นไม้มีมูลค่าสูงเพื่อการออมและการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ มาตรการทางภาษี มาตรการด้านการส่งเสริมการลงทุน มาตรการส่งเสริมให้เกิดตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตในรูปแบบสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นต้น ที่สำคัญ ต้องกำหนดเป้าหมายของการลดการปลดปล่อย การดูดซับ และการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ให้ชัดเจน” นายสิทธิชัย กล่าว

นอกจากนี้ ในกิจกรรมการศึกษาดูงานครั้งนี้ ได้ตั้งเป้าในการลด Carbon Footprint ด้วยการจัดให้มีการเดินทางร่วมกันเพื่อลดการใช้พลังงานที่เกิดจากการเดินทาง รวมถึงการลดจำนวนเอกสารแจก สำหรับ Carbon Footprint ที่เหลือ ประมาณ 6 tCO2e (6 tonnes of carbon dioxide equivalent) ทางกลุ่ม HURWICZ จึงดำเนินการซื้อคาร์บอนเครดิต จากโครงการนำ CO2 ที่ปล่อยสู่บรรยากาศกลับมาทำให้บริสุทธิ์ และใช้ในการผลิตโซเดียม ไบคาร์บอเนต โดย บริษัท จีเนียส อินทิเกรเต็ด โซลูชั่น จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก (มาบตาพุด) อำเภอเมือง จังหวัดระยอง มาชดเชย เพื่อให้กิจกรรมการศึกษาดูงานครั้งนี้เป็น Carbon Neutral Event โดยได้การรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) อีกด้วย