“ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี” ประเมินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในไทยปีนี้ยังเจอความท้าทายจากโควิด-19 แต่เริ่มปรับดีขึ้นตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา จากมาตรการแอลทีวีของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำให้ในปีนี้ ภาคอสังหาฯมีแนวโน้มฟื้นตัว แต่ยังไม่กลับมาเท่าก่อนโควิด เพราะกำลังซื้อในประเทศฟื้นตัวช้า และต้นทุนการก่อสร้างที่ขยับขึ้นเร็ว ทำให้ผู้ประกอบการต้องเร่งระบายสต๊อกคงค้าง รองรับความต้องการที่จะมีมากขึ้น และแนวโน้มดอกเบี้ยปรับเพิ่มขึ้น โดยในระยะยาว ผู้ประกอบการควรปรับกลยุทธ์รับทิศทางพฤติกรรมต่าง ๆ ที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค และปัจจัยโครงสร้างที่เปลี่ยนแปลง
สำหรับปัจจัยสนับสนุนอสังหาฯในปีนี้ได้แก่ มาตรการภาครัฐ ทั้งการขยายเวลาลดค่าธรรมเนียมการโอน และจดจำนองอสังหาริมทรัพย์ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท เหลือ 0.01% ถึงสิ้นปี 65 และ ธปท. ผ่อนคลายมาตรการแอลทีวี จาก 90% เป็น 100% สำหรับที่อยู่อาศัยหลังที่ 1 ที่มีราคามากกว่า 10 ล้านบาท และราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท สำหรับที่อยู่อาศัยหลังที่ 2 เป็นต้นไป
ส่วนการผ่อนคลายมาตรการแอลทีวีชั่วคราวเป็น 100% ในปีนี้ คาดว่าจะกระตุ้นความต้องการซื้อของที่อยู่อาศัยเพิ่มเติมตามพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปในช่วงโควิด-19 และผู้ที่มีกำลังซื้อสูงให้ปรับดีขึ้น เห็นได้จากข้อมูลจำนวนบัญชีสินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ในช่วงที่มาตรการแอลทีวีมากกว่า 90% ในปี 59-61 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่ในช่วงการใช้มาตรการแอลทีวี เพื่อสกัดการเก็งกำไร ปี 62 จำนวนบัญชีสินเชื่อที่อยู่อาศัยใหม่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องในช่วงโควิด
ทั้งนี้คาดว่า ในช่วงครึ่งปีแรกนี้ การฟื้นตัวของกำลังซื้อเป็นไปอย่างช้า ๆ หลังต้องเจอเงินเฟ้อสูงขึ้นและความกังวลโควิด-19 ที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังคงสูง ขณะที่ผู้ประกอบการอสังหาฯ เจอกับต้นทุนวัสดุก่อสร้าง ต้นทุนพลังงาน ค่าแรงที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ทำให้ภาพรวมทิศทางธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปี 65 เริ่มฟื้นตัวได้ แต่ยังไม่กลับสู่ระดับปกติ ส่วนอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น จะเป็นแรงเสริมให้ตัดสินใจซื้ออสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นผลบวกต่อผู้ประกอบการสามารถระบายสต๊อกที่อยู่อาศัยที่มีอยู่ออกไป คาดรายได้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีแนวโน้มพลิกขยายตัว 5% จากที่หดตัว 3.3% ในปี 64
“ในระยะต่อไป ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ต้องเจอหนี้ครัวเรือนที่อยู่สูงจากรายได้ที่ฟื้นตัวช้า พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงหลังโควิด-19 การลงทุนจากต่างประเทศมีแนวโน้มดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อดีมานด์ที่อยู่อาศัยของต่างชาติ ในขณะที่จำนวนประชากรในอีก 10 ปีข้างหน้า มีแนวโน้มอยู่ในระดับทรงตัว คือ ราว 67 ล้านคน แต่พบว่าประชากรที่เป็นวัยทำงานมีแนวโน้มลดลง สวนทางกับระดับต้นทุนก่อสร้างในปัจจุบันที่ขยับสูงมากขึ้นและแนวโน้มทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งสิ่งที่ต้องทำคือ สร้างโอกาสในตลาดที่อยู่อาศัยเพื่อเพิ่มยอดขาย เช่น อยู่ฟรีหรืออยู่ก่อนผ่อนทีหลัง รวมถึงการเจาะกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพแต่ยังเข้าไม่ถึงสินเชื่อ”