“ดร.เชาว์ เก่งชน” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 0.25% ในการประชุมเมื่อวันที่ 15-16 มี.ค. ที่ผ่านมา และจะปรับขึ้นอีก 6 ครั้ง ครั้งละ 0.25% ทำให้ดอกเบี้ยสหรัฐสิ้นปีนี้จะอยู่ที่ 1.75-2% โดยต้องติดตามธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่าจะดำเนินนโยบายการเงินอย่างไร
โดยมี 3 ปัจจัยต้องติดตาม คือ 1.ขึ้นอยู่กับเฟดจะปรับดอกเบี้ยมากขึ้นหรือเร็วขึ้นหรือไม่ 2.เงินเฟ้อไทยจะสูงยาวไปจนถึงครึ่งปีหลังปีนี้หรือไม่ และ 3.จะมีเงินไหลออกประเทศมีผลต่อเงินบาทให้อ่อนค่าหรือผันผวนหรือไม่ ซึ่งอาจจะทำให้ ธปท.ปรับดอกเบี้ยขึ้นมากกว่าระดับ 0.5% ในปัจจุบัน
ทั้งนี้เรื่องการปรับดอกเบี้ยขึ้นไม่ใช่แค่ไทย แต่ประเทศที่กำลังพัฒนาและต้องการฟื้นตัวเศรษฐกิจ รวมทั้งพึ่งพาการส่งออก ในท่ามกลางโควิดและสงครามระหว่างประเทศ อาจจะยืนดอกเบี้ยไว้ที่เดิมเพื่อประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศนั้นๆ ซึ่งการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดจะต้องไม่สร้างความผันผวนให้ตลาดเงิน ให้เงินทุนไหลอกจำนวนมาก ถ้าเป็นเช่นนั้น ธปท. โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.คงเป็นไปได้ยากที่จะคงดอกเบี้ยไว้ในปีนี้
อย่างไรก็ตามหลังจากนี้ยังต้องติดตามการประชุมของเฟดต่อไป ว่าจะมีมุมมองเปลี่ยนไปอย่างไรหรือไม่ จะมีแนวโน้มปรับขึ้นครั้งละ 0.50% จากที่จะขึ้นครั้งละ 0.25% หรือไม่ หากเงินเฟ้อเร่งตัวเพิ่มสูงกว่าเดิม ขณะที่เฟดยังมีสัญญาณที่จะดึงเงินสภาพคล่องกลับ หรือทำคิวที อาจมีผลต่อสภาพคล่องในตลาดการเงินได้
“ที่ผ่านมา ธปท.บอกเสมอว่าเงินเฟ้อสูงในประเทศมาจากราคาน้ำมันเป็นหลัก คงจะใช้เครื่องมือด้านดอกเบี้ยไม่ได้ และช่วงเศรษฐกิจไทยกำลังอ่อนแรง ต้องมีแรงสนับสนุนฟื้นตัว ซึ่งมองว่าการขึ้นดอกเบี้ยอาจเป็นการซ้ำเติมทุกอย่างเข้าไปอีก ดังนั้นก็ต้องจับตาว่า ธปท.จะยืนไว้ได้นานเท่าไร”