เมื่อวันที่ 17 มี.ค. ที่โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้จัดการประชุมสัมมนา และการทดสอบความสนใจของภาคเอกชนในการลงทุน (Market Sounding Seminar) โครงการรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) สายสีเทา ระยะ (เฟส) ที่ 1 ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ ระยะทาง 16.3 กิโลเมตร (กม.) โดยนายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัด กทม. กล่าวเปิดประชุมฯ ว่า รถไฟฟ้าสายสีเทา จะช่วยอำนวยความสะดวก และเติมเต็มโครงข่ายรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ให้สมบูรณ์ และครอบคลุมมากขึ้น โดยเชื่อมต่อรถไฟฟ้า 5 สี ได้แก่ สายสีชมพู ที่สถานีวัชรพล, สายสีน้ำตาล ที่สถานีคลองลำเจียก, สายสีเหลือง ที่สถานีฉลองรัช, สายสีส้ม ที่สถานีพระราม 9 และสายสีเขียว ที่สถานีทองหล่อ

ด้านนายอานนท์ ศักดิ์บูรณาเพชร วิศวกรโครงการ กล่าวว่า คาดว่าจะจัดทำรายงานผลการศึกษา และวิเคราะห์โครงการฯ ตลอดจนรูปแบบการลงทุน แล้วเสร็จประมาณเดือน พ.ค.65 ไม่เกินต้นเดือน มิ.ย.65 โดยกทม. จะเสนอให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) พิจารณา ก่อนเสนอสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.), คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ใช้เวลาในขั้นตอนเหล่านี้ 8-9 เดือน และเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบในปี 66 จากนั้นปี 67-68 จะเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกเอกชนร่วมทุน ก่อสร้าง 4 ปี (ปี 69-72) เปิดบริการปี 73

นายอานนท์ กล่าวต่อว่า สำหรับรถไฟฟ้าสายสีเทา เฟสที่ 1 มีมูลค่าลงทุนอยู่ที่ 2.78 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น ค่าตอบแทนและการชดเชยการใช้ที่ดิน 2.05 พันล้านบาท, ค่าก่อสร้าง (งานโยธา-งานระบบรถไฟฟ้า-งานจัดซื้อขบวนรถไฟฟ้า) 2.31 หมื่นล้านบาท ค่าใช้จ่ายด้านสิ่งแวดล้อม 100 ล้านบาท, ค่าที่ปรึกษาควบคุมงานฯ 836 ล้านบาท, ค่าออกแบบ 462 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายสำรอง 1.32 พันล้านบาท มีอัตราผลตอบแทนภายในทางเศรษฐศาสตร์ (EIRR) 19.75% ระยะเวลาคืนทุน 29 ปี ระยะเวลาสัมปทานอยู่ระหว่างพิจารณาในช่วง 30-50 ปี

น.ส.พัจนภา เปี่ยมศิลปกุลชร รองผู้จัดการโครงการ และผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน กล่าวว่า คาดว่าในปี 73 ซึ่งเป็นปีแรกที่เปิดให้บริการ จะมีผู้โดยสาร 9.7 หมื่นคน-เที่ยว/วัน รายได้ประมาณ 2.6 ล้านบาท/วัน ขณะที่ปี 77 ผู้โดยสาร 1.61 แสนคน-เที่ยว/วัน รายได้ 3.8 ล้านบาท ปี 2602 ผู้โดยสาร 2.49 แสนคน-เที่ยว/วัน รายได้ 14.1 ล้านบาท และปี 2622 ผู้โดยสาร 3.7 แสนคน-เที่ยว/วัน รายได้ 35.8 ล้านบาท ทั้งนี้อัตราค่าโดยสารแรกเข้าเริ่มต้นที่ 16 บาท จากนั้นคิดตามระยะทาง 2.7 บาทต่อกม. คำนวณตามมาตรฐาน MRT Assessment Standardization

น.ส.พัจนภา กล่าวต่อว่า สำหรับรูปแบบ PPP ที่เหมาะสม แบ่งเป็น 3 รูปแบบ ดังนี้ 1.PPP Net Cost รัฐจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน เอกชนก่อสร้างงานโยธา จัดซื้อขบวนรถ ก่อสร้างงานระบบ ดำเนินงานและบำรุงรักษา โดยรัฐให้สิทธิแก่เอกชนเป็นผู้รับรายได้ และเอกชนจ่ายค่าสัมปทาน หรือส่วนแบ่งของรายได้ให้แก่รัฐ 2.PPP Gross Cost รัฐจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน เอกชนก่อสร้างงานโยธา จัดซื้อขบวนรถ ก่อสร้างงานระบบ ดำเนินงานและบำรุงรักษา โดยเอกชนเป็นผู้จัดเก็บรายได้ และนำส่งให้รัฐ และรัฐจะจ่ายผลตอบแทนให้เอกชนในรูปแบบค่าจ้าง ตามระยะเวลาที่ได้กำหนดไว้ในสัญญาร่วมลงทุน

และ 3.PPP Modified Gross Cost รัฐจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน เอกชนก่อสร้างงานโยธา จัดซื้อขบวนรถ ก่อสร้างงานระบบ ดำเนินงานและบำรุงรักษาโครงการ โดยเอกชนเป็นผู้จัดเก็บรายได้และนำส่งให้รัฐ และรัฐจะจ่ายผลตอบแทนให้แก่เอกชนในรูปแบบค่าจ้าง ตามระยะเวลาที่ได้กำหนดไว้ในสัญญาณร่วมลงทุน และเอกชนจะได้รับผลตอบแทนพิเศษเพิ่มเติมภายใต้กลไกการแบ่งผลประโยชน์เพิ่มเติมที่ได้ตกลงกัน

นายชม ตันติธรรมถาวร ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโยธา/โครงสร้าง กล่าวว่า รถไฟฟ้าสายสีเทา เฟสที่ 1 ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ มี 15 สถานี และศูนย์ซ่อมบำรุง (Depot) 1 แห่ง ใช้ระยะเวลาไป-กลับ ประมาณ 62 นาที คาดว่าจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 8,000 – 30,000 คน/ชั่วโมง(ชม.)/ทิศทาง ความเร็วให้บริการเฉลี่ย 35 กม.ต่อชั่วโมง (ชม.) สูงสุด 80 กม.ต่อชม. ส่วนการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเทา เฟสที่ 2 ช่วงพระโขนง-พระราม 3 ระยะทาง 12.2 กม. และระยะที่ 3 ช่วงพระราม 3-ท่าพระ ระยะทาง 11.5 กม. จะเปิดให้บริการหลังจากเฟสที่ 1 ไปอีก 5 ปี หรือประมาณปี 78.