นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า ไลฟ์สด บอกเล่าถึงประสบการณ์การทำงานของพรรคกล้า โครงการ กล้าหาเตียง โดยระบุว่า พบปัญหาอุปสรรคมากมาย เชื่อว่าภาระต่างจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละวัน กว่าที่ผู้ป่วยจะสามารถเข้าสู่ระบบการรักษาพยาบาลในระดับต่างๆ ได้ จากที่ได้รับการติดต่อขอความช่วยเหลือจากผู้ป่วย เมื่อกลางดึกวันที่ 21 ก.ค.ที่ผ่านมา ผู้ป่วยสูงวัยมีโรคประจำตัวทั้งโรคไตและเบาหวาน ทีมอาสาพรรคกล้าาพยายามช่วยเต็มที่ แต่ถูกโรงพยาบาลประจำของผู้ป่วยปฏิเสธที่จะรับดูแล เราพยายามหาช่องทางอื่น และโทรฯ เบอร์ 1669 ตามคำแนะนำของโรงพยาบาล แต่ถูกตัดสายทุก 4 นาที ส่วนเบอร์ 0-2270-5685-9 ของกองทัพบกที่แจ้งว่าเปิดรับสายตลอด 24 ชั่วโมง ก็โทรฯ ไม่เคยติด วันต่อมาผู้ป่วยอาการผู้ป่วยทรุดลงอย่างรวดเร็ว จึงตัดสินใจส่งรถไปรับ เพื่อจะพาไปโรงพยาบาลแต่รถไปไม่ทัน จนเช้าตรู่วันที่ 23 ก.ค.ทราบว่าผู้ป่วยเสียชีวิตแล้ว และได้ทำการฌาปณกิจในทันที สร้างความสลดหดหู่ใจของกลุ่มอาสา แต่ก็เทียบไม่ได้กับความรู้สึกของครอบครัวที่ต้องสูญเสียคนที่รัก

“ผมต่อสายไปคุยกับภรรยาผู้เสียชีวิต ท่านไม่ได้ติดใจกับระบบการช่วยเหลือ ท่านเข้าใจว่าเป็นช่วงสถานการณ์วิกฤติ หากระบบดี เชื่อว่าวันนี้ผู้ป่วยก็ยังคงมีชีวิตอยู่ เรื่องราวเหล่านี้กำลังกลายเป็นเรื่องปกติ ที่เรารับทราบทุกวัน พวกเรามานั่งทบทวนถึงระบบระเบียบราชการ และขั้นตอนที่เป็นอุปสรรคมากมาย ที่อาจใช้ได้ในภาวะปกติ แต่ในภาวะวิกฤติควรจะปรับปรุง โดยเฉพาะเมื่อผู้ป่วยมีการตรวจ Rapid Antigen แล้วพบว่าติดโควิด หลังตรวจวัดค่าออกซิเจนแล้ว ก็ควรให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาพยาบาลในทันที ไม่ต้องมาตรวจ PCR ตามเงื่อนไขของทางราชการอีก ตอนนี้การตรวจก็ยาก ผู้ตรวจออกไปหาพื้นที่ที่ต้องตรวจ นอกจากเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยเองแล้ว ยังเป็นอันตรายต่อผู้ที่เดินทางมาตรวจด้วย ตอนนี้การตรวจเริ่มผ่อนคลาย แต่ก็มีผลแค่การรู้เท่านั้น แต่ยังไม่มีผลกับการใช้สิทธิในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล เราก็ยังขอเรียกร้องว่าการตรวจให้กับประชาชนในพื้นที่เสียง ต้องฟรี” หัวหน้าพรรคกล้า กล่าว

นายกรณ์ กล่าวว่า อีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข คือ การเข้าถึงระบบการรักษา ผ่านช่องทาง Call Center รัฐบาลควรเพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มจำนวนผู้รับสาย เพิ่มข้อมูลให้กับผู้รับสายให้เขามีข้อมูลเพียงพอให้คำปรึกษากับผู้ป่วย เช่นเดียวกับประเด็นยา ที่ยังถกเถียงกัน ข้อเท็จจริงวันนี้คือ ระบบสาธารณสุขของรัฐ ไม่สามารถรองรับผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนามได้ ผู้ป่วยที่ติดค้างอยู่ตามวัด ตามชุมชน จำนวนมากเข้าไม่ถึงยา วันนี้รัฐบาลมีนโยบายแยกตัวผู้ป่วยออกจากครอบครัว โดยให้ สปสช.ดูแลเรื่องยา อาหารสามมื้อ และให้คำปรึกษาทางการแพทย์ แต่หลังจากตรวจสอบพบว่า ผู้ที่เข้าระบบของเราแทบไม่เจอใครได้รับยา หรือรับการช่วยเหลือจากราชการ ตามนโยบายที่กำหนดไว้ นโยบายก็เรื่องหนึ่ง แต่ผลในทางปฏิบัติ เป็นหนังคนละม้วน

“จึงขอให้ผู้มีอำนาจช่วยลงมาดูด้วยตัวเอง ว่านโยบายของท่านนำไปสู่การปฏิบัติได้ไหม และที่ยังทำไม่ได้มันติดอะไร สามารถปลดล็อก ปลดแอกได้ไหม เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงนโยบายที่ท่านกำหนดให้โดยสะดวกมากขึ้น อีกเรื่องคือศูนย์พักคอย พรรคกล้าได้ให้ความร่วมมือสร้างศูนย์พักคอย 2 แห่ง เพราะเรามองว่าแนววิธีนี้เป็นประโยชน์ต่อการตัดวงจรการแพร่เชื้อในชุมชนกันเอง เนื่องจากส่วนใหญ่อยู่กันอย่างแออัดในครอบครัว ดังนั้นจึงให้คำแนะนำกับชุมชน ในการใช้พื้นที่ส่วนกลาง สร้างศูนย์พักคอย แยกตัวผู้ป่วยมาได้อย่างปลอดภัย แต่ศูนย์พักคอยที่มีอยู่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ วันนี้แถวบ้านผม ทราบว่ามีคนงาน 20 คนนอนติดเชื้อโควิด ไม่ได้อยู่ในระบบการรักษา และเราไม่รู้เลยว่า ทั้ง 20 คนนั้นสลับกันไปจ่ายตลาดเพื่อหาอาหารสิ่งของจำเป็นประทังชีวิต ผมรู้สึกอึดอัดกับเรื่องราวที่รับทราบในแต่ละวัน” นายกรณ์ กล่าว

หัวหน้าพรรคกล้า กล่าวว่า จากข้อเสนอข้างต้นนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายที่หน่วยราชการจะทำ แต่อยู่ในวิสัยที่ปรับปรุงแก้ไขได้และต้องเร่งทำ โดยเฉพาะกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ล้มเหลวเรื่องระบบการจัดการข้อมูล วันนี้เราไม่รู้เลยว่า ผู้ป่วยอยู่ไหน ใครอยูในพื้นที่เสี่ยงที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนกี่คน เขาเหล่านั้นอยู่ที่ไหน โรงพยาบาลมีเตียงว่างกี่เตียงและอยู่ที่ไหน การบริหารจัดการที่ดีเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่ปรับปรุงระบบการจัดการและนี่คือภาระสำคัญเร่งด่วน ของ กระทรวงดีอีเอส ที่ต้องสร้างอีโคซิสเต็มให้ผู้ป่วยแบบเรียลไทม์ ต้องรู้ว่าผู้ป่วยอยู่ไหน เตียงว่างกี่เตียงและอยู่ที่ไหน กลุ่มเสี่ยงรอการฉีดวัคซีนกี่คน อยู่ที่ไหนบ้าง ข้อมูลเหล่านี้รัฐต้องมีอยู่ในมือ และต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย

นอกจากนี้ เรื่องการทำมาหากิน เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องการเยียวยา ควรสร้างแพลตฟอร์มอีโคซิสเต็ม สร้างโอกาสการทำมาหากินในช่วงล็อคดาวน์ วันนี้กระทรวงดีอีเอสทำน้อยไป ทั้งที่มีเครื่องมือในมือ วันก่อนได้พูดคุยกับ คุณเชาว์ หรือนายสมคิด จิรานันตรัตน์ ผู้ออกแบบแอพ ‘เป๋าตัง’ วันนี้ประชาชนโหลดแอพเป๋าตังอยู่ในมือถือจำนวน 30 ล้านคน เป็นแพลตฟอร์มที่ควรจะขยายผลให้มีการจองวัคซีน โดยไม่จำเป็นต้องไปออกแบบแอพใหม่ให้ยุ่งยาก วันนี้ร้านอาหารที่ถูกสั่งปิด ผู้ประกอบการจำนวนมากไม่อยู่ในระบบดิลิเวอรี่ เพราะเขาทำไม่เป็น กระทรวงดีอีเอส ก็ควรจะทำให้เขาเข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มนี้

“ท่านนายกรัฐมนตรี เชิญ 40 ซีอีโอ รวมถึงประธานหอการค้า ประธานสภาอุตสาหกรรม เข้ามาพูดคุยปรึกษาที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันก่อน เป็นเรื่องที่ดี แต่คิดว่าการพูดคุยทำมาแล้วหลายครั้ง เขาก็ฝากรัฐหลายครั้ง สุดท้ายรัฐก็ทำได้บ้างไม่ได้บ้าง พวกเราทุกคนที่อยู่หน้าด่าน เราพบขีดจำกัดของระบบราชการ นายกฯ ควรมองข้ามระบบราชการ ไปสู่เครื่องมืออื่น ๆ ที่มีอยู่ในประเทศ ว่ามีภารกิจอะไรบ้างที่มอบให้หน่วยราชการไปทำ แต่ไม่สามารถทำได้ ยกตัวอย่าง call center เบอร์ที่จัดมา หลักการดีอยู่แล้ว แต่ในความเป็นจริงไม่สามารถจัดการให้รองรับความต้องการของประชาชนได้ ถึงเวลาแล้ว ที่จะไปปรึกษาผู้ประกอบการว่า เอกชนรับไปทำได้ไหม ยกตัวอย่าง AIS TRUE รับภาระไปได้ไหม ศูนย์พักคอย หน่วยราการ อาจสร้างไม่ทัน กลุ่ม เอสซีจี ทำได้ไหม เขาก็ทำเตียงกระดาษบริจาคให้รัฐอยู่แล้ว ลองดูทักษะการบริหารจัดการของเขา สามารถช่วยสมทบ หรือ ทำหน้าที่แทนระบบสาธารณสุขของรัฐ ได้แค่ไหน ศูนย์พักคอย

ขณะนี้มีหลักแสนเตียง หามรุ่งหามค่ำ ประเด็นอาหาร ท่านมอบให้ซีพีเลยได้ไหม เซเว่นมี 10,000 สาขา ทั่วประเทศเขามีอาหารอยู่แล้ว เขาสามารถจัดส่งได้ถึงมือผู้ป่วยได้ทันที สถานการณ์วันนี้จึงไม่ใช่แค่รับฟังข้อเสนอแนะ แต่ต้องเป็นการระดมผู้รู้ ที่มีความสามารถ มีทรัพยากรในมือ เพื่อช่วยกันนำพาพวกเราผ่านด่านอุปสรรคนี้ไปให้ได้ เชื่อว่า กว่าที่จะถึงวันที่เราประกาศเอาชนะโควิด คงต้องมีการสูญเสียคนอีกหลายร้อยหลายพันชีวิต แต่จะสูญเสียมากน้อยแค่ไหน ต้องขึ้นอยู่กับการทำงานของทางราชการเป็นหลัก