เมื่อวันที่ 23 ก.ค. นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะผู้อำนวยการกลาง เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้ติดตามสภาพอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศฉบับที่ 17 (116/2564) ลงวันที่ 23 ก.ค. 64 เวลา 11.00 น. แจ้งว่า พายุดีเปรสชัน “เจิมปากา” มีศูนย์กลางอยู่ห่างจากเมืองฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ไปทางตะวันออก ประมาณ 120 กิโลเมตร มีทิศทางการเคลื่อนตัวไปทางทิศใต้ค่อนทางตะวันตกเล็กน้อยอย่างช้าๆ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุม ทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ส่งผลให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนตกหนักถึงหนักมาก ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบน ตั้งแต่จังหวัดพังงาขึ้นไปมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร

นายบุญธรรม กล่าวว่า กอปภ.ก. โดย ปภ. จึงได้ประสาน 10 จังหวัด เฝ้าระวังฝนตกหนัก เตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และคลื่นลมแรง ในช่วงวันที่ 23-26 ก.ค. 64 แยกเป็นสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก 7 จังหวัด ได้แก่ หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม อุดรธานี มุกดาหาร และอำนาจเจริญ สถานการณ์คลื่นลมแรง 3 จังหวัด ได้แก่ ระนอง (อำเภอเมืองระนอง อำเภอกะเปอร์ และอำเภอสุขสำราญ) พังงา (อำเภอเกาะยาว อำเภอตะกั่วป่า อำเภอตะกั่วทุ่ง อำเภอคุระบุรี และอำเภอท้ายเหมือง) ภูเก็ต (อำเภอเมืองภูเก็ต อำเภอกะทู้ และอำเภอถลาง) รวมถึงสั่งการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยในช่วงดังกล่าว โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝนพร้อมวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงและแนวโน้มสถานการณ์ภัยต่อเนื่อง ตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงภัย ทั้งที่ลาดเชิงเขา พื้นที่ลุ่มต่ำ พื้นที่ชุมชนเมือง 

นายบุญธรรม กล่าวต่อว่า พร้อมจัดชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤติ (ERT) รถปฏิบัติการและเครื่องจักรกลสาธารณภัยประสานการปฏิบัติร่วมกับหน่วยงานพลเรือน ทหาร ตำรวจ เครือข่ายอาสาสมัคร และจิตอาสาเตรียมพร้อมทรัพยากรให้พร้อมเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันที รวมทั้งแจ้งเตือนภัยให้เข้าถึงประชาชนรวดเร็วและทั่วถึง โดยใช้อุปกรณ์เตือนภัยในพื้นที่ ทั้งหอเตือนภัย หอกระจายข่าว และเครื่องรับสัญญาณเตือนภัยผ่านดาวเทียม อีกทั้งสร้างการรับรู้และแจ้งเตือนประชาชนติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยผ่านทุกช่องทาง ทั้งสื่อสังคมออนไลน์ วิทยุชุมชน หอเตือนภัย และหอกระจายข่าว ตลอดจนประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาปิดสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ โดยเฉพาะถ้ำน้ำตก ถ้ำลอด สำหรับพื้นที่ชายฝั่งทะเลให้เข้มงวดมาตรการความปลอดภัยทางทะเล โดยเพิ่มการติดตั้งสัญญาณแจ้งเตือนภัยบริเวณชายฝั่งทะเล ห้ามการลงเล่นน้ำและประกอบกิจกรรมทางทะเลในช่วงที่คลื่นลมแรง อีกทั้งห้ามการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองและคลื่นลมแรง เรือเล็กหรือเรือดาดฟ้าเปิดควรกลับเข้าฝั่งโดยเร็วหรืองดออกจากฝั่ง.