นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า เทศกาลสงกรานต์ปี 65 นี้คาดการณ์จะมีประชาชนที่เดินทาง เพื่อกลับภูมิลำเนา ท่องเที่ยวหรือเดินทางไปทำบุญด้วยรถยนต์ส่วนบุคคลและใช้บริการขนส่งสาธารณะ กระทรวงฯ มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จัดทำแผนการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยรองรับการเดินทางของประชาชน ช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 65 ของกระทรวงฯ ระหว่างวันที่ 11-17 เม.ย.65 รวม 7 วัน ดำเนินการดังนี้
1.บริการระบบขนส่งสาธารณะให้เข้าถึงง่าย เพียงพอไม่ล่าช้า ไม่มีผู้โดยสารตกค้าง ไม่โก่งราคา ไม่ทิ้งผู้โดยสาร และทันกับเหตุการณ์ 2.ให้ความเชื่อมั่นแก่ประชาชนในคุณภาพการให้บริการขนส่งสาธารณะ ด้วยการดูแลรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มข้นและจริงจัง 3.กำกับและควบคุม ลดจำนวนการเกิดอุบัติเหตุ ลดความสูญเสียชีวิต และทรัพย์สินประชาชนจากการเดินทางช่วงเทศกาลสงกรานต์ 4.บริหารจัดการจราจรทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ให้มีความคล่องตัวและไม่ติดขัด และ 5.บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการเดินทาง
ทั้งนี้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมต้องจัดเตรียมแผนงานครอบคลุม 3 มิติ ได้แก่ 1.มิติอำนวยความสะดวกในการเดินทาง เตรียมบริการขนส่งสาธารณะทั้งทางบก ราง น้ำ และอากาศ ให้เพียงพอได้มาตรฐานความปลอดภัย ให้ประชาชนเดินทางอย่างสะดวกและปลอดภัยมากที่สุด ร่วมกันรณรงค์ให้ประชาชนวางแผนการเดินทางล่วงหน้า เพื่อกระจายการเดินทางและเหลื่อมเวลาการเดินทางในเส้นทางเข้า-ออกกรุงเทพฯ
ขอความร่วมมือให้กลุ่มเดินทางใกล้ (ประชาชนที่เดินทางกลับภูมิลำเนาหรือท่องเที่ยวภายในรัศมี 200-300 กม. จากกรุงเทพฯ) ให้เดินทางออกทีหลัง-กลับไว เดินทางออกจากกรุงเทพฯ วันที่ 14 เม.ย.65 และกลับเข้ากรุงเทพฯ วันที่ 16 เม.ย.65 สำหรับคนบ้านไกล ขอให้เดินทางออกไว-กลับทีหลัง เดินทางออกจากกรุงเทพฯ วันที่ 12-13 เม.ย.65 และกลับเข้ากรุงเทพฯ วันที่ 16-17 เม.ย.65 เหลื่อมเวลาใช้ทางช่วยกระจายปริมาณจราจรบนถนน และบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดในช่วงสงกรานต์ รวมทั้งจัดเตรียมมาตรการบริหารจัดการจราจรบนเส้นทางถนนสายหลักและสายรอง ที่มีจราจรหนาแน่นติดขัด คืนพื้นผิวจราจร/ช่องจราจรบริเวณโครงการก่อสร้าง ตั้งจุดกวดขันวินัยจราจร และประชาสัมพันธ์ให้ใช้เส้นทางเลี่ยง
2.มิติความปลอดภัยในการเดินทาง ตรวจสอบและปรับปรุงแก้ไขจุดเสี่ยง (Black spot) ที่เกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อน เช่น บริเวณจุดกลับรถ จุดตัดถนนกับรถไฟ และทางลักผ่าน รณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนักรู้ เพื่อลดพฤติกรรมเสี่ยงในการขับขี่ “ไม่ขับเร็ว-คาดเข็มขัดนิรภัย-สวมหมวกนิรภัย-ดื่มไม่ขับ-รักษาวินัยจราจร” ร่วมกันขับเคลื่อนกำกับดูแล/ดำเนินการตามแผนอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการเดินทางประชาชนตลอดช่วงสงกรานต์ กำกับดูแลความพร้อมพนักงานขับขี่ และพนักงานประจำรถโดยสารสาธารณะ เรือโดยสาร และรถไฟให้ปฏิบัติตามกฎหมาย/กฎระเบียบและไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และไม่ใช้สารเสพติด รวมถึงตรวจสภาพความพร้อม และมีอุปกรณ์ความปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะ เรือโดยสาร รถไฟ และเครื่องบิน และภายในสถานีขนส่งผู้โดยสาร สถานีรถไฟ ท่าเรือและท่าอากาศยาน เปิดใช้งานระบบ GPS ในรถโดยสารสาธารณะ
และ 3.มิติด้านการควบคุมโควิด-19 เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานต้องดำเนินมาตรการป้องกันโควิด-19 เคร่งครัด ตรวจสอบกำกับดูแลการให้บริการขนส่งสาธารณะทุกประเภทตามแนวทางที่กำหนด จัดบริการขนส่งสาธารณะให้เพียงพอ และเหมาะสม จำกัดจำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการขนส่งสาธารณะทุกประเภทตามที่กำหนด รวมทั้งจัดให้เว้นระยะห่างและการปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด
นอกจากนี้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมได้ร่วมกันให้บริการฟรีแก่ประชาชนช่วงสงกรานต์ ได้แก่ 1.ยกเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียม บนทางพิเศษ 5 เส้นทาง ได้แก่ ทางพิเศษบูรพาวิถีและกาญจนาภิเษก เป็นเวลา 7 วัน (12-18 เม.ย.65) และทางพิเศษศรีรัช อุดรรัถยา และเฉลิมมหานคร เป็นเวลา 3 วัน (13-15 เม.ย.65) และมอเตอร์เวย์ 2เส้นทาง ได้แก่ มอเตอร์เวย์หมายเลข 7 (กรุงเทพฯ-พัทยา) และมอเตอร์เวย์หมายเลข 9 (สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ถนนกาญจนาภิเษก ตอนบางปะอิน-บางพลี และตอนพระประแดง-บางแค ช่วงพระประแดง-ต่างระดับบางขุนเทียน) เป็นเวลา 7 วัน (12-18 เม.ย.65)
2.เปิดใช้เส้นทางมอเตอร์เวย์หมายเลข 6 หรือ M6 ช่วงปากช่อง-สีคิ้ว-ขามทะเลสอ ระยะทาง 64 กม. ชั่วคราวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ วันที่ 11-18 เม.ย.65 แบ่งเป็นขาออก 11-14 เม.ย.65 รวม 4 วัน และขาเข้า 15-18 เม.ย.65 รวม 4 วัน และ 3.บริการที่จอดรถฟรี ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริเวณลานจอดรถยนต์ระยะยาว โซน C วันที่ 11-17 เม.ย.65
นอกจากนี้ได้สั่งการเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานดำเนินการ ดังนี้ 1.ให้ทุกหน่วยงานนำแผนที่ได้นำเสนอในครั้งนี้ มาทำเป็นรายการตรวจสอบ (Checklist) งานในความรับผิดชอบ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลอย่างชัดเจน 2.ให้หน่วยงานรายงานผลการดำเนินงานตามแผนการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัย ตามแบบฟอร์มที่กำหนด 3.โทรศัพท์สายด่วนเพื่อบริการข้อมูลข่าวสารและรับเรื่องร้องเรียน ควรพร้อมให้บริการ หากมีกรณีฉุกเฉินต้องมีเครื่องมืออุปกรณ์ให้พร้อมรองรับการเกิดเหตุ 4.ควรกำหนดเป้าหมายการดำเนินงาน เน้นให้นำไปปฏิบัติให้เกิดผลอย่างแท้จริง โดยเฉพาะกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ต้องเน้นเรื่องการตรวจสอบความพร้อมความปลอดภัยของผู้ขับขี่และยานพาหนะในจุดตรวจ (Checking point)
5.รณรงค์ให้เกิดการดำเนินงานตาม “มาตรการคนบ้านใกล้เดินทางออกจากกรุงเทพฯ ทีหลัง และเดินทางกลับเข้ากรุงเทพฯ ก่อน” ของ สนข. เพื่อบริหารจัดการการเดินทางประชาชนช่วงสงกรานต์ โดยพิจารณาแนวทางจูงใจ (Incentive) ให้หน่วยงานในสังกัดลดค่าบริการเดินทาง เพื่อกระตุ้นให้เกิดความต้องการเดินทาง หรือหารือผู้ประกอบการให้ลดราคาค่าอาหารเครื่องดื่ม แก่ผู้ที่เดินทางตามมาตรการดังกล่าว 6.ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เข้มงวดเรื่องความปลอดภัยบริเวณจุดลักผ่านและบริเวณจุดตัดระหว่างทางรถไฟกับถนน และ 7.ให้กรมทางหลวง (ทล.) และ กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ตรวจสอบการคืนพื้นผิวจราจรบริเวณที่มีการก่อสร้าง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาคอขวดและจราจรติดขัด