เมื่อวันที่ 14 มี.ค. สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา ฯ นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย เยี่ยมชมผลงานวิจัยโครงการเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้กับชุมชนกลุ่มไม้ดอกไม้ประดับด้วยนวัตกรรมเกษตร ตามแนวทางมาลัยวิทยสถาน ดำเนินโครงการ โดย ดร.อนันต์ พิริยะภัทรกิจ และคณะนักวิจัยจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ฯ (วว.)

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เปิดเผยถึงโครงการมาลัยวิทยสถาน อว. ว่าเป็นแนวคิดของ ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อว. ในการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม การพัฒนาองค์ความรู้ที่ยั่งยืน สู่การพัฒนาตลอดห่วงโซ่การผลิต อาทิ การพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ การคัดเลือกต้นพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับที่แข็งแรงปลอดโรค การส่งเสริมการใช้วัสดุปลูกที่มีคุณภาพและมีสารอาหารที่เหมาะสมต่อพืช ระบบการปลูกเลี้ยงสมัยใหม่ที่ปลอดภัยและได้มาตรฐาน ระบบการปลูกเลี้ยงตามหลักความพอดีไม่เหลือทิ้ง กระบวนการหลังการเก็บเกี่ยว การสร้างกลุ่มเครือข่ายผู้ปลูกเลี้ยงให้เข้มแข็ง รวมถึงการเพิ่มมูลค่าเพื่อเป็นผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมสุขภาพและความงาม ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดการท่องเที่ยวในจังหวัด โดยมีพื้นที่นำร่องในจังหวัดเลยและลำปาง เพื่อเป็นพื้นที่ต้นแบบสู่การเรียนรู้เชื่อมโยงไปยังพื้นที่จังหวัดอื่น ๆ ต่อไป

“มาลัยวิทยสถาน ดำเนินโครงการโดย วว.ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก วช.เพื่อสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการปลูกเลี้ยงไม้ดอกไม้ประดับ ที่สำคัญช่วยเสริมสร้างรายได้ให้กับชุมชนและเศรษฐกิจฐานรากในช่วงวิกฤติโควิด-19 และเป็นการยกระดับสู่อาชีพที่ยั่งยืนหลังสถานการณ์คลี่คลายด้วยเกษตรสมัยใหม่ และก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างกลุ่มเกษตรกร นักวิจัยในมหาวิทยาลัยและในหน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการเอกชนที่เกี่ยวข้อง ทั้งในระดับของต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ได้อย่างแท้จริง ส่งผลต่อการเพิ่มรายได้ของเกษตรกรและมูลค่าการส่งออกไม้ดอกไม้ประดับของประเทศไทยในอนาคตอย่างยั่งยืน” ดร.วิภารัตน์ กล่าวฯ

สำหรับการดำเนินงานมีแนวทาง 4 แนวทาง ต่อไปนี้ 1.พัฒนาชุดข้อมูลพื้นฐานไม้ดอกไม้ประดับอัตลักษณ์ประจำถิ่นเพื่อประโยชน์เชิงพาณิชย์ โดยการรวบรวมข้อมูลการปลูกเลี้ยง ชนิดของพรรณไม้ดอกไม้ประดับ เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการจัดการระบบการปลูกเลี้ยงและฤดูกาลที่เหมาะสมในการจำหน่ายผลผลิตเชิงพื้นที่ รวมทั้งศักยภาพในการผลิตไม้ดอกไม้ประดับ เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับผู้ปลูกเลี้ยงและผู้ประกอบการ 2.การพัฒนาปัจจัยการผลิตในการทำเกษตรปลอดภัยสำหรับไม้ดอกไม้ประดับ 3.การยกระดับระบบการปลูกเลี้ยงไม้ดอกไม้ประดับที่ดีด้วยเกษตรแม่นยำ ด้วยแนวคิดการทำเกษตรสมัยใหม่ที่แม่นยำสูงด้วยเทคโนโลยีและการจัดการผลิตภาคเกษตร (smart farm) และ 4.การพัฒนาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวและบรรจุภัณฑ์ไม้ตัดดอกและไม้ประดับกระถางส่งตรงผู้บริโภค อุตสาหกรรมต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพเป็นอันดับแรก ผลผลิตต้องมีคุณภาพและมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ดังนั้นการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสม ประกอบกับการจัดการทางการตลาดที่ดีจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทั้งในด้านคุณภาพและราคา

“จังหวัดเลยเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีศักยภาพสูงมีวัฒนธรรมที่โดดเด่นมีธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ มีภูมิอากาศที่เป็นเย็นสบายตลอดทั้งปีเหมาะแก่การเพาะปลูกพรรณไม้เมืองหนาวส่งผลให้มีกลุ่มเกษตรกรที่ทำการเพาะเลี้ยงไม้ดอกไม้ประดับเมืองหนาวเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอำเภอภูเรือและด่านซ้ายเป็นแหล่งผลิตไม้ดอกไม้ประดับที่สำคัญ และขนาดใหญ่สุดของประเทศ พรรณไม้ดอกไม้ประดับที่โดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดเลย” ดร.วิภารัตน์ กล่าวและว่า


ขณะที่ จังหวัดลำปาง มีธรรมชาติกลางหุบเขา เหมาะสำหรับการปลูกเลี้ยงไม้ดอกไม้ประดับ พื้นที่เพาะปลูกไม้ดอกไม้ประดับหลัก คือ เบญจมาศ ในตำบลแจ้ซ้อน อำเภอเมืองปาน มีการรวมกลุ่มของเกษตรกรโดยเฉพาะที่บ้านใหม่พัฒนาซึ่งมีการรวมกลุ่มสมาชิกกว่า 50 ครัวเรือน โดยส่งจำหน่ายให้โครงการหลวง หรือพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โทร. 0-2577-9018 หรือ Website : www2.tistr.or.th และ Facebook Fanpage : Flower Cluster