สถานการณ์เงินบาทสัปดาห์ที่ผ่านมาดูเหมือนจะได้รับแรงกดดันอย่างหนักจากความขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซียที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น และยังไม่อาจจะยุติลงได้ด้วยการเจรจา
ทางด้าน “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ระบุว่า เงินบาทสัปดาห์ที่ผ่านมา แตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 1 เดือนครึ่งที่ 33.31 บาทต่อดอลลาร์ โดยเงินบาทและสกุลเงินอื่น ๆ ในเอเชียอ่อนค่าลงเกือบตลอดสัปดาห์ตามทิศทางสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกซึ่งเผชิญแรงเทขายอย่างหนัก หลังจากการเจรจาข้อตกลงหยุดยิงระหว่างยูเครนและรัสเซียรอบที่ 4 สิ้นสุดลงโดยปราศจากข้อสรุป
ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อสหรัฐ ออกมาสูงกว่าที่คาดและยังมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นได้อีก ซึ่งทำให้มีการคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ จะยังคงต้องเดินหน้าคุมเข้มนโยบายการเงินอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ การพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลกยังเพิ่มแรงกดดันต่อฐานะดุลบัญชีเดินสะพัดและเศรษฐกิจไทยในภาพรวม ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยลบต่อค่าเงินบาทด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ ในวันศุกร์ (11 มี.ค.) เงินบาทปิดตลาดที่ 33.27 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับ 32.68 บาทต่อดอลลาร์ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (4 มี.ค.) ขณะที่ระหว่างวันที่ 7-11 มี.ค. นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 675.96 ล้านบาท แต่ขายสุทธิพันธบัตรไทย 4.15 หมื่นล้านบาท
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (14-18 มี.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 33.00-33.50 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด (Fed), ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) และสถานการณ์ยูเครน-รัสเซีย รวมทั้งยังต้องติดตามทิศทางเงินทุนต่างชาติ และสถานการณ์โควิด-19
ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิต ยอดค้าปลีก การเริ่มสร้างบ้าน การผลิตภาคอุตสาหกรรมและยอดขายบ้านมือสองเดือน ก.พ. ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์ก ผลสำรวจแนวโน้มธุรกิจของเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือน มี.ค. นอกจากนี้ ตลาดยังรอติดตามตัวเลขเงินเฟ้อของยูโรโซนและข้อมูลเศรษฐกิจจีนเดือน ก.พ. อาทิ การผลิตภาคอุตสาหกรรม และยอดค้าปลีก ด้วยเช่นกัน