เมื่อวันที่ 11 มี.ค. ที่ Glow Fish Sathorn Conferrence Hall 2-3 นายรักษ์พงษ์ เซ่งเจริญ ประธานมูลนิธิรวมพัฒน์ และอดีตผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ได้เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงสนับสนุนการสร้างต้นแบบระบบเหรียญดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจหมุนเวียนจากชุมชนเมืองสู่หมู่บ้าน โดยมี สินทรัพย์พร้อมใช้งาน เป็นอสังหาริมทรัพย์ มูลค่ากว่า 4,000 ล้านบาท ซึ่งพัฒนา โดย นายธนกฤช โชควรทรัพย์ ประธาน บริษัท เอ.ดี เฮ้าส์ จำกัด อันมีความพร้อมให้บริการมากกว่า 1,000 ยูนิต ในเมืองท่องเที่ยว เช่น พัทยา ชะอำ และหัวหิน เป็นต้น ร่วมกับ ผู้พัฒนานวัตกรรมดิจิทัลโทเคน นายธนภัทร บัวลอย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เบทเทอร์ดู จำกัด เจ้าของสิทธิบัตรระบบจัดการข้อมูลการทำงานร่วมกันด้วยโทเคน BETTER point และ ระบบ Community Service Tokenize ที่จะช่วยสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในระบบเหรียญดิจิทัล

โดย มูลนิธิรวมพัฒน์ จะเป็นผู้สนับสนุนการศึกษาและออกแบบ Tokenomic ที่เหมาะสมและถูกต้องตามหลักเกณฑ์และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เหรียญดิจิทัลนี้เกิดมูลค่าแท้จริงทั้งในระบบเศรษฐกิจเชิงกายภาพ และ ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล โดยจะก่อให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน อันมีทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนในระบบนิเวศน์ของเหรียญดิจิทัลนี้ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาหลักของวิกฤติเศรษฐกิจปัจจุบันที่มีผู้ผลิตล้นระบบ แต่ผู้บริโภคขาดกำลัง จึงทำให้ระบบเศรษฐกิจชะงักชะงันขาดสภาพคล่อง จนไม่เกิดการหมุนเวียน หากปล่อยไว้อาจทำให้เศรษฐกิจของไทยเข้าสู่สภาวะวิกฤติจนยากจะฟื้นตัว เนื่องจากเครื่องยนต์เศรษฐกิจไทยต้องหยุดชะงักไปหลายภาคส่วนตั้งแต่เหตุสงครามการค้าโลก ตลอดจนสภาวะโรคระบาด จนมาถึงสถานะหนี้ท่วมโลก โดยอัตราหนี้ครัวเรือนของคนไทยสูงจนใกล้กับปริมาณรายได้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของคนทั้งประเทศแล้วตอนนี้

นายรักษ์พงษ์ เซ่งเจริญ กล่าวว่า “จากประสบการณ์ทำงานพัฒนาชุมชนเมืองและหมู่บ้านของตนตลอดสามสิบกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้พบว่าชุมชนในเมืองใหญ่ และหมู่บ้านในต่างจังหวัด ได้ถูกแบ่งแยกและขาดการเชื่อมโยงกันจากกลไกต่าง ๆ ในอดีต จนทำให้ระบบเศรษฐกิจของไทยถูกผูกขาดและควบคุม โดยตัวกลางในหลายมิติ แต่หากเราได้ลองไปสำรวจในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศ จะพบว่าภาคใต้มีปลา ภาคกลาง มีข้าว ภาคเหนือมีภูเขา ภาคตะวันออกมีทะเล ภาคอิสานมีพื้นที่ราบใหญ่ ซึ่งทุกพื้นที่ของประเทศต่างมีสินทรัพย์ ที่เพียงพอต่อการดำรงชีพของคนไทยอยู่อย่างมากมายและเหลือล้น แต่ไม่สามารถแลกเปลี่ยนกันโดยตรงได้ เพียงเพราะขาดเงินที่เป็นสื่อกลาง จึงทำให้ต้องเกิดการกู้หนี้ยืมเงินมาเพื่อนำไปลงทุน ซึ่งต้องเสียดอกเบี้ยจำนวนมากและหมดอำนาจต่อรองทางธุรกิจลง จนไม่สามารถแข่งขันในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมได้เพราะ ขนาดธุรกิจที่เล็กกว่ารายใหญ่หรือพ่อค้าคนกลาง และต้นทุนทางการเงินหรือดอกเบี้ยที่แพงกว่าบริษัทใหญ่หรือนายทุน การนำเทคโนโลยีบล็อคเชนที่พร้อมใช้แล้วในปัจจุบัน มาเชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน ให้เงินได้ไหลจากผู้คนจากชุมชนเมืองไปสู่หมู่บ้านในต่างจังหวัด แล้วไหลกลับจากผู้คนในหมู่บ้านต่างจังหวัดมาสู่ชุมชนเมืองเป็นวัฎจักรที่หมุนเวียนและเพิ่มมูลค่าในตนเองได้อย่างมั่นคง
และยั่งยืน โดยไม่ต้องผ่านตัวกลาง อันเป็นการกระจายอำนาจและประชาธิปไตยอย่างแท้จริง”

ด้าน ดร.ชนิญญา ชัยสุวรรณ รองประธานมูลนิธิรวมพัฒน์ กล่าวเสริมว่า “การลงนามบันทึกข้อตกลงสนับสนุนการสร้างต้นแบบฯ ในวันนี้ นับเป็นนิมิตรหมายอันดีในการศึกษาและพัฒนาด้านกฎหมายของประเทศด้วย เนื่องจากเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นเป็นเรื่องที่ยังใหม่มากในระดับโลก โดยนานาประเทศยังอยู่ระหว่างการหาจุดเหมาะสมเพื่อนำมาใช้พัฒนาเศรษฐกิจในรัฐของตน การหาสมดุลระหว่างการส่งเสริมและกำกับด้วยกฎหมายของรัฐ ด้วยการต่อยอดพัฒนาต้นแบบฯบนฐานกฎหมายเดิมจะทำให้เกิดการพัฒนาที่สร้างการยอมรับ และความเข้าใจได้ในวงกว้าง จนเป็นพื้นฐานที่มั่นคงสำหรับนำไปสู่การพัฒนาที่ก้าวกระโดดได้โดยง่าย ซึ่งจากประสบการณ์ในการเป็นอดีตอธิบดีอัยการยาเสพติด และที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข อันได้มีส่วนร่วมในการศึกษาและขับเคลื่อนการปลดล็อคกฎหมายกัญชาและกระท่อม พบว่าการปลดล็อคศักยภาพการใช้งานของสินทรัพย์ต่าง ๆ จะก่อให้เกิดมูลค่าหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจและประชาชนได้อย่างหลายเท่าทวีคูณ ซึ่งการสร้างต้นแบบฯทางกฎหมายในครั้งนี้ จะช่วยปลดล็อคและเป็นต้นแบบการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้งานให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจหมุนเวียนระหว่างชุมชนเมืองและหมู่บ้านในหลายพื้นที่ของประเทศ จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ อัตลักษณ์ประจำท้องถิ่นหรือพื้นที่ เช่น สมุนไพรไทย ภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย ตลอดจนภูมิปัญญาไทย อันนำไปสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนและการสร้างรายได้ที่ยั่งยืนของประชาชนได้เป็นอย่างดี”

ขณะที่ นายธนกฤช โชควรทรัพย์ ประธาน บริษัท เอ.ดี เฮ้าส์ จำกัด กล่าวว่า “ADH ได้ดำเนินการ และพัฒนามาอย่างต่อเนื่องในการขึ้นเป็นผู้นำการสร้างคอนโดเพื่อสร้างความคุ้มค่าให้กับผู้ลงทุนและผู้อยู่อาศัยมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 โดย ADH ได้ออกแบบและก่อสร้างพร้อมรองรับกลุ่มเป้าหมายตามมาตรฐานสากล ในทำเลยอดนิยมต่าง ๆ ของประเทศ ไม่ว่าจะเป็น พัทยา ชะอำ หรือ หัวหิน โดยปัจจุบันมีความพร้อมเข้าอยู่อาศัยแล้ว กว่า 1,000 ยูนิต มูลค่ารวมกว่า 4,000 ล้านบาท แต่ด้วยแนวโน้มที่เปลี่ยนไปของเศรษฐกิจจากเดิม ที่ไทยเติบโตได้ โดยอาศัยการเติบโตของเศรษฐกิจโลก แต่จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และสภาวะ Deglobalization ในปัจจุบัน ทำให้ทุกประเทศต้องมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศ ซึ่งธุรกิจภาคอสังหาก็ต้องเร่งปรับรูปแบบการสร้างความคุ้มค่าให้กับลูกค้าของ ADH เพิ่มมากขึ้นให้สอดรับกับระบบเศรษฐกิจใหม่ ทาง ADH จึงให้ความสำคัญกับความร่วมมือในครั้งนี้ ซึ่งจะเป็นมิติใหม่ของการพัฒนา อสังหาริมทรัพย์ที่จะก่อให้เกิดทั้งเศรษฐกิจแบ่งปันและหมุนเวียน(Sharing & Circular Economy) อันจะช่วยสร้างประโยชน์อย่างสูงสุดให้กับลูกค้าของเราที่เป็นทั้งผู้ลงทุนและผู้อยู่อาศัย ตลอดจนระบบเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมอีกด้วยหากความร่วมมือนี้ได้ดำเนินการจนเสร็จสิ้น”

ด้าน นายธนภัทร บัวลอย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เบทเทอร์ดู จำกัด กล่าวว่า “บริษัทฯ มีความพร้อมทางด้านเทคโนโลยี โดยมุ่งเน้นการนำบล็อคเชนมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจในตลาดหลักอย่างแท้จริงมากกว่าเป็นแค่การเก็งกำไรในตลาดรอง โดยได้พัฒนาขึ้นมาจนสามารถยื่นจดสิทธิบัตรระบบจัดการข้อมูลการทำงานร่วมกันด้วยโทเคน BETTERpoint และ ระบบ Community Service Tokenize ซึ่งจะช่วยสนับสนุนความร่วมมือของโครงการนี้ให้บรรลุเป้าหมายจนก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ลงทุน ผู้อยู่อาศัย ตลอดจนเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมได้อย่างแน่นอน”