จากกรณีที่ประเทศไทยได้ถูกลดอันดับการงานสถานการณ์ค้ามนุษย์จากทางการสหรัฐอเมริกาลงเป็นอันดับ Tier 2 โดยมีข้อสังเกตในเรื่องการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ ปัญหาการบังคับใช้แรงงานและแรงงานข้ามชาติที่เกิดขึ้นในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะภาคการประมง รัฐบาลโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย 

โดยมี พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผช.ผบ.ตร.เป็นประธานคณะทำงาน และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ในฐานะหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย ได้มอบหมายให้ ศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศพดส.ตร.) โดย พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร./ผอ.ศพดส.ตร. และ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผช.ผบ.ตร./รอง ผอ.ศพดส.ตร. เข้าดำเนินการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing)

ต่อมาการทำงานของศูนย์ฯ ตรวจสอบพบว่ามีการลักลอบใช้น้ำมันเขียว ซึ่งเป็นน้ำมันในโครงการช่วยเหลือผู้ประกอบการประมง ตามนโยบายของรัฐบาล โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จนมีการระดมกำลังเจ้าหน้าที่บุกเข้าตรวจค้นกลุ่มเป้าหมายจำนวน 19 จุดพร้อมกันเมื่อวันที่ 8 มี.ค.ที่ผ่านมาในพื้นที่ 8 จังหวัดอ่าวไทย คือ สมุทรปราการ,​ สมุทรสาคร,​ เพชรบุรี,​ ชุมพร,​ สุราษฎร์ธานี, นครศรีธรรมราช, สงขลา​ และปัตตานี ตามข่าวที่เสนอไปแล้วนั้น

ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 11 มี.ค. พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผช.ผบ.ตร./รอง ผอ.ศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศพดส.ตร.) เปิดเผยว่า ผลการตรวจสอบพยานหลักฐานจากการปฏิบัติการตรวจค้นพร้อมกัน 19 จุด เมื่อวันที่ 8 มี.ค.ที่ผ่านมา มีพยานหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำผิดของเรือสถานบริการน้ำมัน (แท็งก์เกอร์) จำนวน 9 ลำ และ เรือประมงอย่างน้อย 200 ลำ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวน คาดว่าในเร็วๆ นี้​ จะสามารถออกหมายจับหรือเรียกผู้ลักลอบใช้น้ำมันเขียวโดยไม่ได้รับอนุญาตมาสอบสวนปากคำเพิ่มเติม

พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ กล่าวด้วยว่า ในทางการสืบสวนพบว่าภายหลังจากการมีเติมน้ำมันเขียวโดยไม่ชอบ หรือ ฉ้อโกงแล้วนั้น เรือเหล่านี้จะนำน้ำมันมาขนถ่ายเพื่อขึ้นบกในแถบจังหวัดชายทะเลภาคกลางและภาคตะวันออก เพื่อนำไปจำหน่ายให้กับผู้บริโภคน้ำมันในภาคเกษตร และขนส่ง และพบว่าขบวนการฉ้อโกงน้ำมันเขียวมีมานานแล้วและเป็นปัญหาที่ถูกซุกไว้ใต้พรม ทั้ง ๆ ที่ ขบวนการนี้ได้สร้างความเสียหายให้กับรัฐในแต่ละปีไม่น้อยกว่า 700 ล้านบาท และแม้ว่าวันนี้จะมีปริมาณสัดส่วนเรือประมงที่ลดลง แต่ปริมาณการใช้น้ำมันเขียวยังคงมีสัดส่วนเท่าเดิม วันนี้ประเทศไทยต้องแบกรับภาระตรงนี้ ปีละ 700 ล้านบาท แต่ผลประโยชน์ ไปตกอยู่กับกลุ่มคนเพียงไม่กี่คน 

‘บิ๊กโจ๊ก’ลุยปูพรมค้นบนบกทะเล ปราบแก๊งโกงน้ำมันเขียวสูญปีละ700ล….

พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ กล่าวและว่า ส่วนกรณีของเรือ ป.อันดามัน 2 ซึ่งเป็นเรือบรรทุกน้ำมันเขียวของ บ.ไทยแหลมทองค้าน้ำมันประมง จำกัดประสบเหตุเหตุล่มลงในทะเลอ่าวไทย ขณะลอยลำอยู่ห่างจากปากน้ำชุมพร 20 ไมล์ทะเล เมื่อวันที่ 22 ม.ค. และเจ้าของเรือปฏิเสธการกู้เรือ ว่า ตนได้ประสานไปยังกรมเจ้าท่าให้เร่งดำเนินการบังคับใช้กฎหมายกับเจ้าของเรือให้ทำตามมติของคณะกรรมการ ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และหลังจากนี้เมื่อกู้เรือสำเร็จก็จะให้ตำรวจน้ำ ร่วมกับกองพิสูจน์หลักฐานเข้าตรวจสอบและเก็บพยานหลักฐาน เนื่องจากมีข้อสงสัยในหลายประเด็นโดยเฉพาะสาเหตุที่ทำให้เรือล่ม

อย่างไรก็ตามผู้สื่อข่าวรายงานในปฏิบัติการดังกล่าว เจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจยึดเรือประมงเพื่อทำการตรวจสอบในเบื้องต้นจำนวน 4 ลำ ในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี 2 ลำ จ.ชุมพร 1 ลำ และ จ.ปัตตานี 1 ลำ โดยลำที่ 1.ภูมิลำเนา อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี ปัจจุบันสถานะเปลี่ยนประเภทเป็นเรือบรรทุกสินค้า มีการใช้ตั๋วเติมน้ำมันเขียว 1 ครั้ง จำนวน 16,000 ลิตร เมื่อ ก.ย.64 ลำที่ 2 ภูมิลำเนา อ.ดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานี มีสถานะเป็นเรือขนถ่ายสัตว์น้ำ ใช้ตั๋ว เติมน้ำมัน 1 ครั้ง จำนวน 3,400 ลิตร เมื่อ ส.ค.64 ลำที่ 3 ภูมิลำเนา จ.ชุมพร มีสถานะถูกยกเลิกทะเบียน ใช้ตั๋วเติมน้ำมัน 2 ครั้ง ในเดือน ก.ย.64 จำนวน 13,000 ลิตร และ เดือน ม.ค.65 จำนวน 17,000 ลิตร และลำที่ 4 ภูมิลำเนา จ.ปัตตานี มีสถานะแจ้งงดใช้เรือในเดือน ธ.ค.64 แต่มีการใช้ตั๋วเติมน้ำมันเขียว 6 ครั้ง เฉลี่ยครั้งละ 15,000 ลิตร โดย 2 ครั้ง​ เป็นการใช้ตั๋วหลังแจ้งงดใช้เรือไปแล้วถึง 2 เดือน ซึ่งขณะนี้พนักงานสอบสวนกำลังรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อเอาผิดเจ้าของเรือ ในข้อหาขนถ่ายน้ำมันในเขตต่อเนื่องโดยไม่มีเหตุอันควรหรือไม่ได้รับอนุญาต ตาม​ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 189