นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ นายภูษิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า นายเอกฉัตร ศีตวรรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ แถลงข่าวตัวเลขการส่งออกเดือนล่าสุด

โดยนายจุรินทร์ กล่าวว่า ตัวเลขการส่งออกเดือน มิ.ย.2564 มูลค่าการส่งออก 23,699.43 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทย 738,135.34 ล้านบาท ขยายตัวมากถึง 43.82% ซึ่งถือว่าเป็นนิวไฮใหม่ ที่สูงสุดในรอบ 11 ปี สินค้าสำคัญที่มีอัตราการขยายตัวสูง 1.ผลไม้ขยายตัว 185.10% 2.อัญมณีและเครื่อง ด้วยมูลค่า ประดับ ขยายตัว 90.48% 3.รถยนต์และอุปกรณ์ชิ้นส่วนยานยนต์ ขยายตัว 78.5% 4.เครื่องจักรกล ขยายตัว 73.13% และ 5.เคมีภัณฑ์ขยายตัว 59.82% เป็นต้น สำหรับผลไม้ที่ขยายตัวสูงสุดถึง 185.10% เป็นทุเรียนขยายตัวถึง 172% มังคุดขยายตัว 488.26% เป็นต้น

ในหมวดสินค้าต่างๆ นั้น สินค้าด้านการเกษตรยังมีอัตราการขยายตัวที่สูงมากถึง 59.8% และมีอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 10 ปี สามารถทำรายได้เข้าประเทศถึง 71,473.5 ล้านบาท ถือเป็นการขยายตัว 9 เดือนต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งยางพาราขยายตัวถึง 111.9% ผักผลไม้ทั้งสด แช่เย็นแช่แข็งแปรรูป ขยายตัว 110.2% โดยเฉพาะมันสำปะหลังขยายตัวถึง 81.5% เดือน มิ.ย.นั้นตลาดสำคัญทั้งตลาดหลักตลาดรองมีอัตราการขยายตัวทุกตลาดโดยตลาดหลักขยายตัวถึง 41.2% ประกอบด้วยจีน ญี่ปุ่น สหรัฐ สหภาพยุโรป CLMV อาเซียน เป็นต้น ตลาดรองขยายตัวถึง 49.5% ทั้งเอเชียใต้ อินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ ตลาดตะวันออกกลาง แอฟริกา ลาติน ออสเตรเลีย เป็นต้น

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า แผนงานในครึ่งปีหลังกระทรวงพาณิชย์จะเดินหน้าทำตัวเลขให้ได้ดีที่สุดนำตัวเลขเข้าประเทศให้ได้มากที่สุด โดย ประการที่ 1 กระทรวงพาณิชย์ จะจับมือกับภาคเอกชนเดินหน้าทำงานร่วมกันแก้ไขปัญหาอุปสรรคในรูป กรอ.พาณิชย์ และใช้ทั้งทีมเซลล์แมนจังหวัดและทีมเซลส์แมนประเทศ เป็นแม่ทัพร่วมกับภาคเอกชนในการเดินหน้าการส่งออกต่อไป โดย 1.ขณะนี้ได้มีการเตรียมกิจกรรมต่างๆ เพื่อส่งเสริมการส่งออกมากกว่า 130 กิจกรรมในครึ่งปีหลัง ซึ่งมีการทำยอดขายสั่งจองล่วงหน้าแล้วไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท

2.จะเร่งเปิดตลาดใหม่ที่เป็นรูปธรรมเพื่อให้ปรากฏตัวเลขชัดเจนเพิ่มขึ้นต่อไป เช่น ตลาดซาอุดีอาระเบีย ซึ่งโอกาสที่ประเทศไทยจะสามารถส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็งไปยังตลาดซาอุดีอาระเบีย มีความเป็นไปได้มาก และตนได้สั่งการให้ทูตพาณิชย์ที่รับผิดชอบได้ติดตามรายงานทุกสัปดาห์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ ดำเนินการเจรจารวมทั้งการเตรียมการเอกสารต่างๆ ก็มีการเป็นไปได้จริงโดยเร็วที่สุด และสำหรับตลาดลาตินอเมริกา แม้เส้นทางจะไกลและเราเสียเปรียบคู่แข่งหลายประเทศค่าขนส่งจะแพง แต่เป็นเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์จะจับมือกับภาคเอกชนในการบุกตลาดลาตินอเมริกา สินค้าที่คิดว่ามีโอกาสเกิดได้ เช่น สินค้า New Normal ทั้งอาหารเกี่ยวกับสุขภาพ อาหารรูปแบบใหม่ อาหารกระป๋อง เป็นต้น สินค้าที่จะมีอนาคตในตลาดลาตินอเมริกาคือชิ้นส่วนยานยนต์เพราะที่นั่นมีรถต้องซ่อมแซมหรือใช้แล้วจำนวนมาก เป็นต้น

“ซึ่งจำเป็นต้องจับมือกับภาคเอกชนในการแก้ไขปัญหาร่วมกันโดยเฉพาะในเดือนกรกฎาคม เดือน ส.ค. ประเด็นที่หนึ่งจะต้องยื่นมือเข้าไปช่วยในภาคการผลิตเพื่อให้คงตัวเลขส่งออก หรือให้มีสินค้าในการสนองความต้องการตลาดโลกได้ต่อไป ปัญหาภาคการผลิตในช่วงเดือนกรกฎาคม เช่น บางจังหวัดสั่งปิดโรงงานแบบเหมารวม จะต้องมีการพิจารณาให้รอบคอบส่วนไหนที่มีปัญหาก็ปิดโซนนั้น โซนไหนที่ไม่มีปัญหาควรให้เปิดดำเนินการต่อไปได้ หรือถ้ามีการปิดทั้งโรงงานส่วนไหนที่แก้ไขปัญหาจบแล้วก็ควรจะเปิดให้ดำเนินการผลิตต่อไป เพื่อไม่ให้ภาคการผลิตหยุดชะงักและกระทบกับการส่งออก ซึ่งตนจะเสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้าต่อไป” นายจุรินทร์ กล่าว

ประเด็นที่ 2 เรื่องแรงงานภาคเอกชนเรียกร้องให้มีแรงงานเข้าสู่ระบบมากขึ้นในช่วงที่เรากำลังทำตัวเลขส่งออกซึ่งเราได้รับความร่วมมือจากกระทรวงแรงงานในการเร่งรัดขึ้นทะเบียนแรงงานที่หมดอายุ โดยตนขอให้กระทรวงแรงงานจัดศูนย์ One Stop Service เพื่อรับขึ้นทะเบียนแรงงานหมดอายุในจุดต่างๆ เพื่อความรวดเร็วจะได้นำมาใช้ในภาคการผลิตต่อไป ประเด็นที่ 3 เร่งกระจายวัคซีนเข้าสู่ภาคการผลิตโดยเฉพาะโรงงานที่ผลิต เพื่อการส่งออกตนได้รายงานใน ครม.แล้วเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอ นายกฯ ตอบรับและสั่งการให้พิจารณาเรื่องนี้ต่อไป เพื่อไม่ให้กระทบภาคการผลิตที่จะส่งผลต่อตัวเลขการส่งออกในเดือนกรกฎาคมและเดือนสิงหาคม

ทางด้าน นายภูษิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การส่งออกรายสินค้านอกจากสินค้าเกษตรที่ขยายตัวถึง 59.8% สูงสุดในรอบ 10 ปี กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรก็ขยายตัว 13.5% และสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว 44.7% ในส่วนของสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรที่ขยายตัวต่อเนื่อง 22 เดือน คือ หมวดอาหารสัตว์เลี้ยงขยายตัว 27.7% น้ำตาลทรายกลับมาขยายตัวในรอบ 15 เดือนที่ 18.8% แสดงให้เห็นว่าสินค้าในทุกกลุ่มทั้งสินค้าเกษตรสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวทุกตลาดทั้งตลาดหลัก ตลาดรอง ตลาดส่งออก 50 อันดับแรกซึ่งมีสัดส่วน 97% ของมูลค่าการส่งออกรวมของไทยขยายตัวทุกตลาด อย่างไรก็ตามอัตราการขยายตัวนี้เป็นผลจากการดำเนินงานส่งเสริมการส่งออกที่ทำอย่างต่อเนื่องรวมทั้งได้รับแรงหนุนจากการขยายตัวของภาคการผลิตสะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตโลกอยู่เหนือระดับ 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 โดยผลผลิตคำสั่งซื้อสินค้าใหม่และการจ้างงานในหลายประเทศล้วนเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น สหรัฐอเมริกา และยุโรป และปัจจัยเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าอย่างต่อเนื่องก็ช่วยส่งเสริมภาคการส่งออกของไทยด้วย ทั้งนี้ด้านสินค้าส่งออกที่ขยายตัวที่น่าสนใจคือ สินค้าเกษตรและอาหาร โดยเฉพาะผักและผลไม้ ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำมันปาล์ม น้ำตาลทราย ไก่สดแช่เย็น แช่แข็งและแปรรูป เครื่องดื่ม อาหารสัตว์เลี้ยง สิ่งปรุงรส เป็นต้น