นายมงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย แถลงว่า สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ จะจัดการอบรมหลักสูตร “มองจีนยุคใหม่ ความท้าทายที่สื่อไทยควรรู้ ปีที่ 4” โดยได้รับการสนับสนุนจาก 1.สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย 2.บริษัท ทีทีดับบลิว จำกัด (มหาชน) 3.บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) 4.บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) มีวัตถุประสงค์เพื่อให้สื่อมวลชนไทยมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับจีนยุคใหม่ และความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน ได้อย่างครบถ้วน รอบด้าน อันจะนำไปสู่การรายงานข่าวให้สาธารณะรับทราบอย่างถูกต้อง กระชับความสัมพันธ์ระหว่างสื่อมวลชนไทยกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องระหว่างไทย-จีน และสร้างเครือข่ายระหว่างสื่อมวลชนไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ระหว่างวันจันทร์ที่ 21 – วันพุธที่ 23 มีนาคม 2565 ณ โรงแรมวีโฮเทล บีทีเอสราชเทวี กรุงเทพ และเดินทางไปเยือน สปป.ลาว ระหว่างวันพฤหัสบดีที่ 28 – วันเสาร์ที่ 30 เมษายน 2565
กิจกรรมในหลักสูตรประกอบด้วย
1.เวทีสาธารณะ (public forum) หัวข้อ “สัมพันธ์จีน-สหรัฐ : ผลกระทบต่อไทยและอาเซียน” ผู้ร่วมเสวนาในเวทีจะประกอบด้วย ผศ.ดร.ประพีร์ อภิชาติสกล อุปนายกสมาคมอเมริกาศึกษาในประเทศไทยและอาจารย์ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, ผศ.ดร.หลี่ เหริน เหลียง (Li Ren Liang) คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ดำเนินรายการโดย วัชรินทร์ เศรษฐกุดั่น อสมท. ในวันจันทร์ที่ 21 มีนาคม 2565
2.การจัดบรรยายให้ความรู้เป็นวงปิดเฉพาะสื่อมวลชนผู้เข้าร่วมโครงการ วิทยากรประกอบด้วย รศ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล ที่ปรึกษาศูนย์จีนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (จากประวัติศาสตร์สู่จีนภายใต้ “สีจิ้นผิง” New Era of China), ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร (China Next Normal: วิกฤติและโอกาสของจีน 2022), ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาฯ (รถไฟความเร็วสูงจีน-ลาวรูปธรรมของโครงการ BRI ในอาเซียน), เพียรพร ดีเทศน์ ผู้ประสานงานการรณรงค์ประเทศไทย องค์การแม่น้ำนานาชาติ (จีนกับนโยบายการพัฒนาลุ่มน้ำโขง), ณัฐพร วุ่นกลิ่นหอม นายกสมาคมดิจิทัลไทย (นวัตกรรมจีน : ผู้เปลี่ยนโฉมหน้าโลกยุคใหม่), ผู้แทนจากสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าของไทย, ผู้แทนจากบริษัทเอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด (SAIC Motor-CP Co. Ltd.) และเอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด (MG Sales (Thailand) Co. Ltd) (อนาคตและโอกาสอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานสะอาด)
3.เรียนรู้วัฒนธรรมผ่านอาหารจีน สื่อมวลชนที่เข้าร่วมอบรมจะได้สัมผัสวัฒนธรรมจีนผ่านอาหาร วัฒนธรรม และอุตสาหกรรมบันเทิงจีน และได้พบกับสื่อมวลชนจีนที่อยู่ในประเทศไทย
4.กิจกรรมระหว่างประเทศ (วันพฤหัสบดีที่ 28 – วันเสาร์ที่ 30 เมษายน 2565) ผู้เข้าร่วมอบรมจะได้เดินทางไปดูงานกิจการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมจีน-ลาว พบปะหารือกับผู้แทนที่เกี่ยวข้องกับกิจการรถไฟความเร็วสูงจีน–ลาว และศึกษาดูงานโครงการสร้างเขื่อนที่ไซยะบุรี พบปะตัวแทนนักข่าวลาว เยือนชุมชนจีนในลาว
ผู้ที่สนใจเข้าร่วมอบรมต้องเป็นสื่อมวลชนที่มีประสบการณ์การทำงานด้านข่าวหรือรายการตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป และสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ทุกกิจกรรม สามารถดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ www.tja.or.th ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมอบรมไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ
ปิดรับสมัครวันที่ 15 มีนาคม 2565 หลังจากประกาศรายชื่อแล้วผู้สมัครต้องโอนเงินประกันให้สมาคมฯ 2,000 บาท โดยจะคืนให้ทันทีที่จบการอบรม