วันที่ 11 มี.ค. นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงาน ยังมีนโยบายตรึงราคาดีเซลไว้ที่ระดับ 30 บาทต่อลิตร จนกว่าวงเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่จะดูแลหมดซึ่งวางไว้ทั้งหมด 40,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้สถานะสุทธิติดลบ 23,000 ล้านบาท เหลือประมาณ 17,000 ล้านบาท หากนำมันดิบดูไบเฉลี่ยไม่เกิน 115 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จะดูแลได้ถึงพ.ค.นี้ ส่วนราคาปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) จำเป็นต้องปรับราคาเพิ่มจากขณะนี้ตรึงราคาไว้ไม่เกิน 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม (กก.) โดยปรับขึ้น 1 บาทต่อกก.หรือ 15 บาทต่อถัง จะส่งผลให้ราคาปรับเป็น 333 บาทต่อถัง 15 กก. มีผล 1 เม.ย.นี้เป็นต้นไป
“ราคาแอลพีจี เราดูแลมา 2 ปีแล้วและกำหนดตรึงไว้ 318 บาทต่อกก.ถึง 31 มี.ค.นี้ แต่ขณะนี้ราคาตลาดโลกสูงถึง 900 ดอลลาร์ต่อตันภาระการอุดหนุนเพิ่มขึนอย่างมากหากสะท้อนราคาจริงต้องอยู่ที่ 463 บาทต่อ กก.แต่การขึ้น 15 บาทต่อถัง เพื่อลดภาระซึ่งกรอบเดิมเราจะขยับทุกไตรมาสแต่ของใหม่นี้ก็เราจะดูแต่สถานการณ์ใกล้ชิดยังระบุไม่ได้ว่าการขึ้นจะนานไปถึงไหน ส่วนหนึ่งก็อยากให้ประชาชนประหยัดตนเป็นที่พึ่งแห่งตน”
สำหรับค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) งวดใหม่ (พ.ค.-ส.ค.65) ตามกรอบเดิมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้มีการพิจารณาไว้ว่าจะมีการปรับขึ้นอัตรา 16.71 สตางค์ต่อหน่วย แต่เนื่องจากต้นทุนได้มีการเปลียนแปลงไปจากเดิมที่สูงขึ้นกว่าที่ประเมินไว้ดังนั้นมาตรการต่างๆที่รัฐได้พยายามช่วยลดต้นทุนเช่น ลดภาษีสรรพสามิตดีเซลสำหรับโรงไฟฟ้า และอื่นๆก็จะทำให้ลดต้นทุนระดับหนึ่งเพื่อดูแลค่าเอฟที ไม่เกินไปจากกรอบเดิมที่วางไว้ เพื่อลดผลกระทบกับผู้ใช้ไฟรายย่อยไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือนกำลังพิจารณาที่จะไม่ปรับขึ้น โดยจะประชุมเพื่อพิจารณาปรับขึ้นในวันที่ 16 มี.ค.นี้
“ถ้าถามว่า เงิน 40,000 ล้านบาทหมด แล้วจะทำอย่างไรต่อ ก็ต้องรอ ระหว่างนี้ต้องประหยัด และอยู่ในสภาพนี้ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน รัฐบาลจะพยายามตรึงภายใต้กรอบวงเงินที่มีอยู่ ถ้าทุกคนประหยัดก็ตรึงได้นาน ถ้าราคาลดลงปกติ ยิ่งตรึงได้นานขึ้นอีก”
ผู้สื่อข่าวถามว่ารัฐบาลมีความชัดเจนที่จะตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร และขยายเวลาอุดหนุนราคาก๊าซหุงต้มอยู่ที่ 318 บาทต่อถัง 15 กก. ที่จะสิ้นสุด 31 มี.ค.นี้ออกไปหรือไม่ นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า “ไม่ชัดเจน เพราะสถานการณ์แกว่งขนาดนี้ เราจะทำยังไงได้ แต่ระหว่างนี้เรามีวงเงิน 40,000 ล้านบาท ที่ใช้ดูแลสถานการณ์ชั่วคราวกันไป ทั้งยังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ถ้าราคาน้ำมันดิบลง ก็ไม่จำเป็น แต่ถ้าราคาสูงขึ้น 170 ดอลลาร์สหร้ฐต่อบาร์เรล ก็ต้องมีมาตรการอื่นดูแล เป็นธรรมชาติในเหตุการณ์ที่ผันผวน จะเอาคำตอบเป๊ะ กลับบ้านไปนอนหลับสบาย ผมคิดว่าไม่ได้เป็นลักษณะบริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความผันผวน สื่อมวลชนต้องทำความเข้าใจ”
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้มอบหมายให้กระทรวงพลังงาน หารือร่วมกับกระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ หรือสศช.) ศึกษาแนวทางรับมือวิกฤตราคาพลังงาน หากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียยูเครนยืดเยื้อรุนแรงเกินกว่าที่คาดไว้ ส่ง ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้นสูงขึ้นผันผวนรุนแรงต่อเนื่อง