เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ประธานกรรมการอบรมประชาชนกลาง (อ.ป.ก.) เมตตาปรารภธรรมอันเป็นอุปกรณ์ในการทำงานว่า การงานเป็นมงคลของชีวิต บุคคลใดที่มีงานทำ บุคคลนั้นได้ชื่อว่ามีอุบายเลี้ยงดูชีวิต สามารถพึ่งตนเองได้ แต่ควรมีธรรมะเป็นเครื่องปรุงนำมาประยุกต์ปฏิบัติในการทำงาน 4 ประการ คือ…

โสวจัสสตา คือ ความเป็นคนว่าง่าย รู้จักฟังเป็น พิจารณาคําพูด คำแนะนำ ทั้งคําว่าร้าย ทั้งคําพูดสรรเสริญ มี “โยนิโสมนสิการ” คือ การทําเข้าไว้ในใจ ซึ่งคําพูดเหล่านั้น โดยถูกอุบาย ถูกทาง อันยังให้เกิดประโยชน์ เพราะความเป็นคนว่าง่าย ชื่อว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุให้ได้มาซึ่งโอวาทคือคําตักเตือน เพราะถ้าหากว่าเป็นคนว่ายากแล้ว ผู้ใหญ่ หรือเพื่อนพี่น้องร่วมงานทั้งหลาย ก็จะไม่ว่ากล่าวตักเตือน ไม่พร่ำสอน เพราะจักเป็นเหตุให้เกิดความขุ่นเคือง อีกทั้งจะเหนื่อยเปล่า หรือบาดหมางกัน หากเราพิจารณาถึงความปรารถนาดีของผู้ใหญ่ ถ้าอนุโลมตามท่านได้ ก็ควรอนุโลม เพื่อความดีงามและความเป็นสัปปายะในการทำงาน อย่ามัวแต่โทษกันว่า ตนถูก คนอื่นผิด ทั้งที่ตนเองเป็นฝ่ายผิด แต่ตนไม่ยอมรับความผิด โยนความผิดให้คนอื่น ดังวลีธรรมที่ว่า “โทษของคนอื่นเห็นง่าย แต่โทษของตนเองมองไม่เห็น”

อปจายนธรรม คือ ธรรมอันแสดงออกซึ่งความอ่อนน้อม ถ่อมตน มีสัมมาคารวะ เคารพในพระรัตนตรัย เคารพครูบาอาจารย์ นับว่าเป็นขนบธรรมเนียมอันดีงามของคณะสงฆ์ ความเป็นผู้ประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตน มีสัมมาคารวะ เพราะอปจายยธรรม ย่อมยังผู้ใหญ่ ผู้น้อย หรือผู้เสมอกัน เคารพนับถือกัน ทํางานร่วมกันได้ ปฏิบัติด้วยดีต่อกันด้วยสามัคคีธรรม

นิวาตะ หมายความว่า ความเป็นผู้มีใจอ่อนน้อม “นิวาตะ” แปลว่า มีลมออกแล้ว คือ ไม่เบ่ง ไม่เย่อหยิ่ง ไม่ถือตัว ไม่กระด้าง เพราะความกระด้าง ความถือตัว ดูหมิ่นคําสอนอย่างนี้ เป็นอวมงคล เป็นเหตุแห่งความพินาศ ความอ่อนน้อมถ่อมตนจึงเป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์กำจัดอุปสรรคของการทำงาน ดังวลีธรรมที่ว่า “คนพาลมักสําคัญตนว่าฉลาดเลิศลอยไม่รู้ที่ต่ำที่สูง แต่บัณฑิตผู้รู้ย่อมประพฤติธรรมอ่อนน้อมถ่อมตน”

ปฏิสันถาร หมายถึง การต้อนรับกันฉันท์มิตร การต้อนรับด้วยความเต็มใจ ในทางพระพุทธศาสนานั้น มีกิจปฏิสันถารไว้ 2 ประการคือ อามิสปฏิสันถาร และธัมมปฏิสันถาร การปฏิสันถารนั้น อาจเป็นดังวลีธรรมที่ว่า “ง่ายอยู่ที่ปาก ยากอยู่ที่ทํา”  หมายความว่า การพูดใครก็พูดได้ เว้นเสียแต่คนใบ้เท่านั้น แต่การที่จะนําเอาเรื่องที่พูดมาปฏิบัติให้ถูกใจคนทุกคน และให้บรรลุผลโดยบริบูรณ์สมบูรณ์นั้นเป็นเรื่องยากอย่างยิ่ง

เราควรฝึกหัดปรับแก้ความเกียจคร้าน ด้วยความขยัน ละความเห็นแก่ตัว ด้วยมีอัธยาศัยกว้างขวางเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ลดความบึ้งตึง ด้วยความยิ้มแย้ม ละเลิกความมักง่าย ด้วยความละเอียด รอบคอบเป็นเสน่ห์ของคนทำงานที่น่าชื่นชม น่าชื่นใจ “ชื่นชมกันมากค่ามากกว่าชิงชังกัน”

ในแต่ละวันของการทำงาน นินทาคนอื่นกับชื่นชมคนอื่น เราทำอะไรมากว่ากัน?

เปลี่ยนโกรธเป็นเมตตา เปลี่ยนริษยาเป็นยินดี เป็นอ่อนแอ เป็นอ่อนน้อม ทราบแล้วเปลี่ยน?

……………………………….

คอลัมน์ : ลานธรรม

โดย : พระสุธีวชิรปฏิภาณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ประธานพระธรรมวิทยากรเครือข่ายธรรมะอารมณ์ดี