นายปรีดา มากมูลผล นายกสมาคมธุรกิจรถตู้ต่างจังหวัด เปิดเผยว่า ขณะนี้รถตู้โดยสารหมวด 2 เส้นทางกรุงเทพฯ-ต่างจังหวัด ระยะทางไม่เกิน 300 กม. เป็นรถร่วมบริการบริษัทขนส่งจำกัด (บขส.) ที่มีประมาณ 3,000 กว่าคัน ได้รับผลกระทบจากที่รัฐบาลให้รถโดยสารสาธารณะทุกประเภท ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 13 จังหวัด งดให้บริการเดินรถเข้า-ออกเขตพื้นที่ เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือ โควิด-19 นั้น

ทำให้รถตู้หมวด 2 ทุกคันต้องหยุดให้บริการมาตั้งแต่วันที่ 21 ก.ค.ที่ผ่านมา เบื้องต้นไปจนถึงวันที่ 2 ส.ค.64 หรือจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับคำสั่งของกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ทำให้ผู้ประกอบการรถตู้ไม่มีงานทำ และไม่มีรายได้ ต้องกลับบ้านที่ต่างจังหวัด หรือหาอาชีพอื่นแทน เพื่อหารายได้  

นายปรีดา กล่าวต่อว่า ดังนั้นต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือเยียวยาคือให้สถานบันการเงินหรือบริษัทไฟแนนซ์ต่างๆ ช่วยพักชำระหนี้ไม่ต้องจ่ายค่างวดรถในช่วงนี้ไปก่อน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการรถตู้และสามารถพยุงธุรกิจให้อยู่รอดต่อไปได้ เพราะตั้งแต่โควิดรอบที่ 3 ช่วงเดือน เม.ย.64 ทำให้ผู้โดยสารใช้บริการลดลงอย่างต่อเนื่อง จากเดิมมีรายได้ 1,000 บาทต่อวัน ลดเหลือ 500-600 บาทต่อวัน ซึ่งยังไม่หักค่าใช้จ่ายอื่นๆ

ขณะเดียวกันผู้ประกอบการรถตู้ได้พยายามปรับตัวโดยการปรับลดเที่ยววิ่งและจำนวนคันลง เพื่อลดภาระการขาดทุนด้วย เช่น เส้นทางกรุงเทพฯ-สุพรรณบุรี และ กรุงเทพฯ-อ่างทอง เดิมมีรถตู้ 60 คัน ตอนนี้เหลือรถตู้ 20 คัน ให้บริการวันละเที่ยววิ่งเท่านั้น เพราะผู้โดยสารก็ลดลง ไม่มีการเดินทาง กลัวโควิด จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทุกวัน  

นายปรีดา กล่าวอีกว่า จากผลกระทบโควิดรอบแรกจนถึงปัจจุบันผู้ประกอบการรถตู้ขอเยียวยาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด แต่ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็น ขบ. เรื่องขอขยายอายุรถตู้หมดอายุ 10 ปีออกไปก่อน โดยเน้นนำมาตรวจสภาพแทน เพื่อให้ผู้ประกอบการทำมาหากินได้

เพราะการจะเปลี่ยนรถตู้เป็นรถโดยสารขนาดเล็ก (มินิบัส) เป็นการเพิ่มภาระให้ผู้ประกอบการ ออกรถใหม่มาก็ตายหมด เพราะรัฐไม่ช่วย จึงต้องหาเงินมาจ่ายค่างวดรถเดือนละ 24,000-28,000 บาทต่อเดือน บางรายทนสู้ต่อ แต่บางรายไม่ไหวต้องล้มเลิกกิจการและให้รถถูกยึด แล้วกลับไปประกอบอาชีพใหม่แทน เพื่อความอยู่รอด