ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ได้ส่งผลกระทบทางตรงแก่ประเทศไทยแล้ว ในเรื่องของราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นสูงแบบไม่หยุดพัก ทำให้เป็นภาระค่าครองชีพให้กับคนไทย และเพิ่มต้นทุนให้กับผู้ประกอบการภาคธุรกิจไม่น้อย จนต้องจ่อขึ้นราคาสินค้ากันเป็นแถว

“ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัยกรุงไทย คอมพาส ธนาคารกรุงไทย ได้พูดถึงสถานการณ์ที่เป็นในขณะนี้ว่า ผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนต่อเศรษฐกิจไทยมีแน่นอน โดยต้องติดตามต่อว่าจะยืดเยื้อแค่ไหน เพราะจะส่งผลกระทบต่อราคาสินค้า ราคาพลังงาน น้ำมันแพง เพิ่มภาระต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ และเงินเฟ้อก็สูงขึ้น ซึ่งหากยืดเยื้อ เมื่อต้นทุนมีราคาสูง อาจทำให้ผู้ประกอบการขาดทุน และหยุดผลิตสินค้าชั่วคราวได้

ทั้งนี้กรุงไทยคอมพาส ประเมินผลกระทบต้นทุนสูง ซึ่งแต่ละผู้ประกอบการอาจจะมีการผลิตแตกต่างกัน ส่วนต่างกำไรไม่เท่ากัน อาจเกิดปัญหาขาดทุน และหยุดผลิตชั่วคราว เมื่อต้นทุนราคาสูง อาจมีผู้ประกอบการถูกกระทบพอสมควร ถ้าราคาน้ำมันเกิน 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเป็นเวลานาน ซึ่งขณะนี้อยู่ที่ 120-130 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลจะกระทบต่อเศรษฐกิจไทย โดยถ้าจบแค่เดือนมี.ค.นี้ หลังจากนี้จะมีทิศทางดีขึ้นหากเจรจากันได้ และราคาน้ำมันจะลดลงมา เศรษฐกิจหรือจีดีพีไทยปีนี้จะเติบโต 3.8%

อย่างไรก็ตามถ้ายืดเยื้อกว่านี้ไปถึงเดือนมิ.ย. ราคาน้ำมันสูงไปอีก 3 เดือน กระทบเศรษฐกิจไทย กระทบผู้ประกอบการต้นทุนสูงอาจต้องหยุดผลิต เพราะผลิตไปก็ไม่คุ้มทุน จีดีพีอาจลดลงมาจาก 3.8% อาจหล่นมาใกล้เคียง 3% แต่ถ้ากรณียาวนานมาก ราคาน้ำมันสูงนาน 6 เดือน กรณีนี้จีดีพีอาจเติบโตได้ไม่ถึง 3% ส่วนจะต่ำกว่า 3% เท่าไรยังต้องดูราคาน้ำมันอีกที ขณะที่เงินเฟ้อ ไตรมาสแรกเกิน 3% ไปแล้วจากราคาน้ำมัน ถ้ากรณีราคาน้ำมันสูงเกิน 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลนาน 3 เดือน เงินเฟ้อไตรมาสสองจะสูงเกิน 3% จากที่ผ่านมาเงินเฟ้อไทยไม่ถึง 1% ด้วยซ้ำ

“ผลกระทบมีแน่ แต่ตอนนี้สิ่งที่อาจจะทุกคนสงสัยอยู่ ว่าจะยาวนานแค่ไหน จากวิกฤติยูเครนกระทบเศรษฐกิจไทยเป็นหลักคือเงินเฟ้อ ต้นทุนผู้ประกอบการแพง ราคาสินค้าแพง ราคาน้ำมันแพง และท่องเที่ยวไทย หากก่อนเกิดโควิดกระทบเยอะ เพราะรัสเซียเป็นตลาดสำคัญ แต่ตอนนี้ปีนี้ไม่ได้มีนักท่องเที่ยวมาเยอะอยู่แล้ว ผลกระทบโดยตรงอาจไม่ได้กระทบมากนัก”