กรมการขนส่งทางราง (ขร.) แจ้งว่า ขร. ขอชี้แจงถึงกรณีที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) โต้แย้งคัดค้านร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. …. ในประเด็นดังนี้ 1.มีเนื้อหามีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงการดำเนินการโดยรัฐให้เป็นเอกชน ซึ่งคือการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในอนาคต ทาง ขร. ขอชี้แจงว่า ไม่มีบทบัญญัติใด มาตราใด ในร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง เกี่ยวข้องกับการแปรรูปใด ๆ ทั้งสิ้น การเสนอโครงการการขนส่งทางราง กำหนดหลักเกณฑ์ในการเสนอโครงการให้หน่วยงานของรัฐเป็นเจ้าของโครงการ หากโครงการใดมีเอกชนร่วมลงทุนให้หน่วยงานเจ้าของโครงการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน ทั้งนี้สัญญาสัมปทาน หรือสัญญาร่วมลงทุนที่ได้จัดทำขึ้น ต้องมีข้อกำหนดที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้ ไม่มีกรณีที่จะดำเนินการแปรรูปรัฐวิสาหกิจแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ จะช่วยกำกับการดำเนินงานของระบบขนส่งทางรถไฟให้มีมาตรฐานความปลอดภัย การกำหนดเขตปลอดภัย การสอบสวนอุบัติเหตุ และยกระดับคุณภาพการให้บริการระบบรางให้กับประชาชนผู้ใช้บริการระบบราง รวมถึงคุ้มครองผู้โดยสาร ความล่าช้าในการเดินรถ การคืนค่าโดยสาร และการเยียวยา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติโดยรวม สำหรับร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง มีบทบัญญัติ 10 หมวด ดังนี้ หมวด 1 คณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางราง, หมวด 2 การจัดทำโครงการการขนส่งทางราง, หมวด 3 เขตระบบรถขนส่งทางรางและเขตปลอดภัยระบบรถขนส่งทางราง,
หมวด 4 การกำกับดูแลการประกอบกิจการ, หมวด 5 การสอบสวนอุบัติเหตุ, หมวด 6 ผู้ตรวจการขนส่งทางราง, หมวด 7 ผู้ประจำหน้าที่, หมวด 8 การจดทะเบียนรถขนส่งทางราง, หมวด 9 การคุ้มครองผู้โดยสารและผู้ใช้บริการ และหมวด 10 บทกำหนดโทษ ซึ่งรวมกับบทเฉพาะกาล อย่างไรก็ตาม ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีมาตรารวม 149 มาตรา มีหลักการสำคัญเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตประกอบกิจการขนส่งทางราง กำหนดมาตรฐานด้านความปลอดภัย การจัดสรรความจุ ตารางเวลาเดินรถและเส้นทาง การสอบสวนอุบัติเหตุและการจดทะเบียนรถขนส่งทางราง โดยเมื่อร่าง พ.ร.บ. มีผลบังคับใช้ จะช่วยให้เกิดประโยชน์ต่อการคมนาคมขนส่งทางราง นับเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนระบบรางของไทยให้เทียบเท่าสากล ส่งเสริมเศรษฐกิจ เพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการเเข่งขันของประเทศ
และ 2.หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่ได้ดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้อง และผู้มีส่วนได้เสียอย่างทั่วถึงและรอบด้าน อีกทั้งยังมีความเห็นและข้อสังเกตของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เห็นว่าจะส่งผลกระทบต่อประโยชน์ของสังคมและประชาชนโดยส่วนรวม ทาง ขร. ขอชี้แจงว่า ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง โดยมีหนังสือถึงหน่วยงานเกี่ยวข้องเพื่อขอรับฟังความคิดเห็น รวมถึง รฟท. ด้วย โดยสำนักงานยุทธศาสตร์ธุรกิจการเดินรถ ของ รฟท. เป็นผู้ให้ความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ และ ขร. ได้รับความเห็นและข้อสังเกตดังกล่าวมาดำเนินการแล้ว อีกทั้ง ขร. ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย ผ่านเว็บไซต์ระบบกลางทางกฎหมาย (https://lawtest.egov.go.th/) ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค.-19 เม.ย. 64 และผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของกรมการขนส่งทางราง (https://www.drt.go.th/) ด้วย
หาก สร.รฟท. ยังคงไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง สามารถแสดงความคิดเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาได้ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 77 และ พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 อย่างไรก็ตาม สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า การดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของ ขร. เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กฎหมายกำหนดไว้อย่างครบถ้วนทุกขั้นตอนชอบด้วยกฎหมายแล้ว.