วันที่ 8 มี.ค. ภายหลังการประชุม ครม. นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เปิดเผยว่า ในที่ประชุม ครม.ได้มีการหารือถึงสถานการณ์ราคาพลังงานในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในการประชุมคณะกรรมการพลังงานแห่งชาติ (กพช.) วันที่ 9 มี.ค. นี้ จะมีการพิจารณาแนวทางที่ใช้รับมือโดยรัฐบาลพยายามที่ดูแลราคาพลังงานให้ได้มากที่สุด แต่ขณะนี้ราคาน้ำมันในตลาดโลกได้เกินกรอบที่รัฐบาลได้คาดการณ์ไว้ที่ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ในการตรึงราคาดีเซลไว้ที่ 30 บาทต่อลิตร จึงต้องหารือกันใน กพช.
ทั้งนี้รัฐบาลได้พยายามที่จะตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ลิตรละ 30 บาท ซึ่งต้องหารือร่วมกันในหลายรูปแบบ แต่เบื้องต้นพยายามที่ทำได้ โดยประเมินราคาน้ำมันทุกวันมีการประชุมติดตาม ประชาชนต้องเข้าใจว่าขณะนี้ราคาผันผวนมาก และราคาขึ้นสูงมากภายในสัปดาห์เดียวขึ้นมา 50% สิ่งที่ต้องทำคือ ต้องประหยัดพลังงาน โดยนายกรัฐมนตรีให้แนวทางว่าเรื่องนี้เป็นวาระของ ครม.และให้หน่วยงานทุกหน่วยงานไปทำแผนการประหยัดพลังงานมาเสนอ ประชาชนต้องช่วยตัวเองด้วย เพราะไทยยังคงเป็นประเทศผู้นำเข้าพลังงาน สำหรับการช่วยผู้ใช้น้ำมันเบนซินนั้น จะพิจารณาในส่วนของผู้มีรายได้น้อย ซึ่งกำลังพิจารณาด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตามโดยหลักการ คือ ต้องใช้กองทุนน้ำมันเป็นตัวหลัก เพราะภาษีสรรพสามิตได้ลดไปแล้ว ต้องไปดูว่างบประมาณเงินกู้ที่ให้กับกองทุนน้ำมันฯ จะใช้ได้นานแค่ไหน ถ้าสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ ก็ต้องดูแนวทางอื่น ซึ่งเป็นไปได้ที่จะขยายเพดานเงินกู้ของกองทุนน้ำมันฯ ด้วย รวมถึงการชะลอการจ่ายหนี้ในส่วนของลูกหนี้การค้า เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับกองทุนน้ำมันฯ ส่วนจะลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลเพิ่มอีกหรือไม่ ก็ต้องหารือกับกระทรวงการคลัง รวมถึงการตรึงราคาก๊าซหุงต้มที่ 318 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัมด้วย ซึ่งต้องดูว่าเมื่อถึงเวลานั้นจะทำอย่างไร แต่ราคาจะต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านมากไม่ได้เพราะอาจจะเกิดการลักลอบไปในประเทศเพื่อนบ้านได้
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวอีกว่า สำหรับการผลิตไฟฟ้าที่ปัจจุบันประเทศไทยใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าอยู่มาก และราคาก๊าซธรรมชาติปรับขึ้นมาอย่างรวดเร็วจากระดับ 5-10 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู มาเป็น 90 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู จากความตึงเครียดเมื่อรัสเซียจะงดส่งก๊าซให้ยุโรป ทำให้ต้องหามาตรการในการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าอย่างหลากหลาย และพึ่งพาการใช้พลังงานในประเทศให้มากที่สุดเพื่อลดการนำเข้าเชื้อเพลิงราคาแพง รวมทั้งการใช้เชื้อเพลิงทดแทน จากประเทศเพื่อนบ้าน
นอกจากนี้จะมีการพิจารณาการเพิ่มสำรองน้ำมัน ในประเทศจากปัจจุบันการสำรองตามกฎหมายอยู่ที่ประมาณ 60 วัน จะหารือ ในกพช.เพื่อพิจารณาการเพิ่มสำรองน้ำมันตามกฎหมายมากขึ้น เพราะไม่รู้ว่าจะเกิดสถานการณ์อะไรขึ้นบ้างในอนาคต จึงต้องปรับระยะเวลาสำรองมากขึ้น โดยต้องดูศักยภาพของการจัดเก็บให้เหมาะสมมากที่สุด และจะได้ความชัดเจนหลังการประชุม กพช.
“ปัจจุบันเข้าสู่สถานการณ์ที่วิกฤติพอสมควรแล้ว ราคาพลังงานกระทบปรับเพิ่มขึ้นทั้งโลก การผลิตน้ำมันของโอเปกยังอยู่ที่ 4 แสนดอลลาร์ต่อบาร์เรล เมื่อรวมกับข่าวความตรึงเครียดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับยูเครนและรัสเซีย ประชาชนจึงต้องช่วยกันประหยัด ซึ่งกระทรวงพลังงาน จะให้ข้อมูลให้ประชาชนร่วมกันประหยัดพลังงาน โดยหน่วยงานราชการจะลดการใช้พลังงาน 20% และในบ้านเรือนให้ได้ 10% ก็จะช่วยเพิ่มได้”