วันที่ 8 มี.ค. นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) และร่างกฎกระทรวง โดยยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) สำหรับการโอนสินทรัพย์ดิจิทัล (คริปโตเคอร์เรนซี) หรือโทเคนดิจิทัลในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล และการโอนสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือซีบีดีซี ตามโครงการพัฒนาและทดสอบการใช้งานสกุลเงินดิจิทัลเพื่อใช้งานของประชาชน ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 65 จนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 66 เพื่อบรรเทาภาระภาษีให้กับประชาชนในการซื้อขายคริปโตฯ และให้เกิดความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีด้วย

นอกจากนี้ ยังยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนคริปโตฯ หรือโทเคนดิจิทัล เฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน เป็นจำนวนเท่ากับผลขาดทุนจากการโอนคริปโตฯ หรือโทเคนดิจิทัลที่เกิดขึ้นในปีภาษีเดียวกัน มีผลย้อนตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค. 61 เป็นต้นไป โดยคำนวณจากกำไรแล้วลบด้วยขาดทุน เหลือจำนวนเงินเท่าใดจึงนำไปคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งจะทำให้เงินภาษีของรายนั้นที่จะต้องจ่ายลดลง ในส่วนการสูญเสียรายได้จากภาษีแวต ยังไม่สามารถประมาณการได้ เพราะมูลค่าเงินดิจิทัลมีความผันผวน และกำไรขาดทุนของผู้ขายแต่ละรายไม่มีความแน่นอน

ทั้งนี้ ปัจจุบันการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว มีปริมาณและความถี่มาก ซึ่งได้มีพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉ.19) พ.ศ. 2561 กำหนดให้เงินส่วนแบ่งของกำไรหรือผลประโยชน์จากการถือโทเคนดิจิทัล และผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนคริปโตฯ หรือโทเคนดิจิทัลเฉพาะส่วนที่ตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุนให้เป็นเงินได้พึงประเมิน ต้องเสียภาษีเงินได้และให้หักภาษี เงินได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่ายของเงินได้พึงประเมินในอัตรา 15% และการโอนคริปโตฯ หรือโทเคนดิจิทัลจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย 

นายธนกร กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้เคยมีข้อสั่งการให้กระทรวงการคลังหารือกับ ธปท. และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในกำหนดนโยบายเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลให้ชัดเจน กำหนดมาตรการที่เกี่ยวข้องให้ครอบคลุมทุกสินทรัพย์ดิจิทัลในระหว่างการแก้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ยังไม่แล้วเสร็จ และกำหนดกระบวนการทบทวนมาตรการกำกับดูแลให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล 

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.ฎ และร่างกฎกระทรวง เป็นมาตรการเพื่อบรรเทาภาระภาษีให้กับประชาชนในการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล โดยรัฐบาลมุ่งสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ลงทุนและผู้ประกอบการในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล สนับสนุนอุตสาหกรรมการเงินยุคใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (ฟินเทค) รวมทั้งกระตุ้นให้เกิดการลงทุนและสร้างนวัตกรรมใหม่ให้กับประเทศด้วย

“การที่กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพากรได้ผ่อนผันภาษีตามมาตรการนี้ จะทำให้ผู้ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลได้รับความสะดวกและได้รับความเป็นธรรมในการเสียภาษีมากขึ้น ทั้งยังสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบการชำระเงินและเศรษฐกิจดิจิทัลด้วย”