ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สวนผักสุขรัก เลขที่ 92 หมู่ที่ 3 ต.กะลาเส อ.สิเกา จ.ตรัง นางกัลยารัตน์ หมุนเวียน อายุ 39 ปี ซึ่งเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ Young Smart Farmer ต้นแบบ จ.ตรัง พร้อมด้วยสามีคือ นายจิรศักดิ์ หมุนเวียน อายุ 40 ปี ได้ช่วยกันดูแลแปลงผักเมืองหนาว และผักระยะสั้นหลากหลายชนิด เช่น กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก บรอกโคลี และผักใบเขียว เช่น คะน้า ผักกาดขาว กวางตุ้ง ผักบุ้ง บวบ ที่ปลูกเอาไว้เต็มพื้นที่ประมาณ 2 ไร่ โดยกำหนดให้สามารถเก็บผลผลิตได้แบบหมุนเวียนเป็นรุ่น ๆ ตลอดทั้งปี และใช้วิธีการปลูกแบบปลอดสารเคมี 100 เปอร์เซ็นต์ โดยใช้กาวดักจับแมลง และเลี้ยงแมลงขาหนีบนำมาปล่อยให้กินหนอน เพื่อกำจัดแมลงศัตรูพืช และใช้แหนแดงแทนปุ๋ยเคมี รวมทั้งปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก

ทั้งนี้ แม้ผักบางชนิดจะถูกหนอนกัดกินจนบริเวณเปลือกนอกดูไม่สวย เช่น กะหล่ำดอก แต่เนื้อในยังสมบูรณ์ ทำให้เจ้าของแปลงไม่ย่อท้อที่จะผลิตผักปลอดสารพิษด้วยวิธีการดังกล่าวออกมาขาย เพราะยืนยันได้ว่าไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย และเป็นที่ต้องการมากของตลาด โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่คัดเอาแต่ผักปลอดสารพิษเท่านั้น รวมทั้งกลุ่มคนรักสุขภาพ ทำให้ 2 สามีภรรยาสามารถสร้างรายได้ปีละ 4-5 แสนบาท แม้จะเหนื่อยหน่อยแต่รายได้ดี แถมยังได้อยู่กับผักสีเขียวปลอดสารพิษ ที่ได้ทั้งกินเองและขายให้บุคคลอื่นได้รับประทาน

นางกัลยารัตน์ กล่าวว่า ตนทำสวนผักสุขรักมาตั้งแต่ปี 2549 รวม 16 ปีแล้ว แรก ๆ ตั้งใจปลูกกินเอง ที่เหลือส่งขาย ตลาดหลักคือ ฝ่ายโภชนาการ รพ.ตรัง เพื่อนำไปทำอาหารให้ผู้ป่วย โดยที่ปลูกส่วนมากจะเป็นผักเมืองหนาว และผักระยะสั้นตามฤดูกาล แต่ถ้าเป็นช่วงฤดูฝนจะปรับเปลี่ยนไปปลูกผักที่ต้องอาศัยไม้เลื้อย เพื่อยกต้นขึ้นเหนือพื้นดิน จะได้ไม่เน่า ลดความชื้น โดยไม่ใช้สารเคมี แต่ใช้ชีวภัณฑ์เข้ามาช่วยควบคุมศัตรูพืช หลายคนมองว่าอาจอยู่ไม่ได้ แต่ตนกับสามีกลับอยู่ได้ เพราะใจรัก ความเอาใจใส่ในการทำ ความมุ่งมั่น ความอดทน และปลูกแบบผสมผสาน เพราะบางอย่างให้ผลผลิตดี บางอย่างก็ไม่ดี

ข้อดีคือ เมื่อเป็นผักปลอดสารพิษทำให้ขายได้ราคาดี โดยคนปลูกเป็นคนกำหนดเอง ขึ้นอยู่กับความยากง่ายในการปลูก และดูแลรักษาของผักชนิดนั้น เช่น ผักกวางตุ้ง กก.ละ 40 บาท, กะหล่ำปลี กก.ละ 60 บาท, คะน้า กก.ละ 60 บาท, กะหล่ำดอก กก.ละ 80 บาท และบรอกโคลี กก.ละ 120 บาท ซึ่งราคาจะสูงกว่าผักตามท้องตลาดทั่วไป เพราะผู้บริโภคไม่เกี่ยง แต่เน้นความปลอดภัยเพื่อสุขภาพ ทำให้แต่ละปีแม้รายได้จะไม่เท่ากัน แต่ก็เป็นตัวเลข 6 หลักทุกปี