เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 8 มี.ค. นายเสกสม อัครพันธุ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) และโฆษก ขบ. เปิดเผยว่า ได้แถลงข่าวประเด็นข้อเรียกร้องมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการขับรถแท็กซี่ เนื่องจากปัจจุบัน สถานการณ์ผู้ประกอบการรถแท็กซี่กำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากราคาค่าน้ำมันเชื้อเพลิง แก๊ส และราคาน้ำมันที่สูงขึ้น รวมทั้งยังซ้ำเติมด้วยสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือ โควิด-19 โดยเฉพาะสายพันธุ์โอมิครอนที่กำลังระบาดอยู่ขณะนี้ ส่งผลให้ต้นทุนสูงขึ้น แต่รายได้ลดลง ไม่สามารถจ่ายค่าประกัน ค่าไฟแนนซ์ เบี้ยปรับต่าง ๆ ได้ ดังนั้น ผู้ประกอบการรถแท็กซี่จึงเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าช่วยเหลือ ด้วยการเจรจากับบริษัทสินเชื่อต่าง ๆ และไฟแนนซ์ หามาตรการลดเงินต้นและดอกเบี้ย พร้อมแหล่งกู้ดอกเบี้ยต่ำที่เข้าถึงได้ง่าย เพื่อให้สามารถประกอบอาชีพต่อไปได้
ปัจจุบัน มีรถแท็กซี่จดทะเบียนในระบบกว่า 85,000 คัน แต่ต้องจอดทิ้งรอถูกยึดกว่า 40,000 คันนั้น ขบ. ขอชี้แจงว่า ขบ. อยู่ระหว่างหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อกำหนดแนวทางการช่วยเหลือที่เหมาะสม โดยกระทรวงคมนาคม และ ขบ. มีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการขับรถแท็กซี่ดังนี้ 1.มาตราการลดค่าใช้จ่าย การขยายอายุรถแท็กซี่จาก 9 ปี เป็น 12 ปี รวมทั้งอนุญาตให้ใช้เทคโนโลยีทางเลือกอื่น เพื่อบันทึกการเดินทางแทน GPS ในรถแท็กซี่ 2.มาตรการเพิ่มรายได้ การให้ติดตั้งสื่อโฆษณาบนรถแท็กซี่ และกำหนดให้เรียกเก็บค่าสัมภาระได้ ในกรณีจากการให้บริการที่ท่าอากาศยานดอนเมือง และ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
นายเสกสม กล่าวต่อว่า และ 3.มาตรการช่วยเหลือจากผลกระทบโควิด-19 กระทรวงคมนาคมร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ผู้ขับรถสาธารณะทุกประเภท รวมทั้งผู้ขับรถแท็กซี่ที่เป็นบุคลกากรด่านหน้าในการให้บริการระบบขนส่งสาธารณะ เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ณ สถานีกลางบางซื่อ เร่งสร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกันการแพร่ระบาด สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ใช้บริการและผู้ขับรถแท็กซี่ โดยได้ดำเนินการตั้งแต่วันที่ 24 พ.ค.-30 มิ.ย. 64 มีผู้ขับรถแท็กซี่ได้ฉีดวัคซีนไปแล้ว 18,427 คน ทั้งนี้ ผู้ขับรถแท็กซี่ที่มีความประสงค์จะขอวัคซีนเพิ่มเติม กระทรวงคมนาคมได้ประสานไปยังกระทรวงสาธารณสุขให้ลงทะเบียนเข้ารับการฉีดวัคซีนที่สถานีกลางบางซื่อได้
นอกจากนี้ ขบ. ได้ดำเนินการติดตั้งฉากกั้นระหว่างที่นั่งคนขับรถกับคนโดยสารภายในรถแท็กซี่นำร่องจำนวน 3,000 คัน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อจากการไอ หรือจาม มีส่วนช่วยลดการแพร่ระบาดโควิด-19 สร้างความมั่นใจในการใช้บริการรถแท็กซี่ เรื่องดังกล่าวพบว่า ผู้โดยสารมีความพอใจกับการติดตั้งฉากกั้น เนื่องจากมีความรู้สึกปลอดภัยในการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้เกิดความมั่นใจในการโดยสารรถแท็กซี่มากขึ้น ทั้งนี้พบว่า เมื่อติดตั้งฉากกั้นแล้ว ทำให้ระบบปรับอากาศ (แอร์) ภายในรถแท็กซี่ ส่งไปไม่ถึงห้องโดยสารที่อยู่ด้านหลัง ทำให้ผู้โดยสารร้อน ส่วนความคิดเห็นของคนขับรถแท็กซี่ ฉากกั้นมีผลกระทบต่อการมองเห็น เนื่องจากเกิดแสงสะท้อน ทำให้รบกวนสายตาและสมาธิในการขับรถ
นายเสกสม กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ขบ. ได้ดำเนินโครงการช่วยเหลือกลุ่มอาชีพผู้ขับรถแท็กซี่และรถจักรยานยนต์ (จยย.) สาธารณะ ที่มีอายุเกิน 65 ปี ที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 โดยให้เงินช่วยเหลือกับคนขับรถในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด ที่ไม่สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33, มาตรา 39 และมาตรา 40 ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 และที่แก้ไขเพิ่มเติมได้ ซึ่งมีผู้ได้รับความช่วยเหลือแล้วจำนวน 4,811 คน
มาตรการต่าง ๆ เหล่านี้ เพื่อช่วยเหลือผู้ขับรถแท็กซี่ให้สามารถประกอบอาชีพต่อไปได้ ในสถานการณ์ในการติดเชื้อโควิด-19 เพื่อความปลอดภัยผู้โดยสารรถแท็กซี่ อย่างไรก็ตาม ขบ. ไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น ได้เร่งมือประสานกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยเหลือคนขับรถแท็กซี่และออกมาตรการช่วยเหลือในทุกด้าน เพื่อให้ผู้ขับรถแท็กซี่สามารถดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพขับรถต่อไปได้