ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผอ.สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดศูนย์ประสานงาน “พิพิธภัณฑ์มีชีวิตขุนยวมสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน”ณ วัดคำใน ต.ขุนยวม อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน เพื่อนำองค์ความรู้จากการวิจัย มาบูรณาการกิจกรรมการอนุรักษ์และสืบสานศิลปวัฒนธรรมของขุนยวมฯ ร่วมกับ สถาบันการอุดมศึกษา องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น และชุมชน พร้อมส่งมอบบัญชีศิลปวัตถุแก่วัดมวยต่อ และวัดคำใน เพื่ออนุรักษ์งานพุทธศิลป์และมรดกทางวัฒนธรรมสำคัญของชาติสืบไป

ทั้งนี้ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้สนับสนุนโครงการวิจัยการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์มีชีวิตขุนยวมสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน แก่ ดร.สรายุธ รูปิน คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการวิจัย และทีมนักวิจัยประกอบด้วย อาจารย์ธวัชชัย ทำทอง คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง อาจารย์ ฐาปกรณ์ เครือระยา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และ รศ.ดร.สืบศักดิ์ แสนยาเกียรติคุณ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศึกษาวิจัยเรื่องขุนยวมพิพิธภัณฑ์มีชีวิต เพื่อบุกเบิกแนวทางส่งเสริมและอนุรักษ์วัฒนธรรม วิถีการดำเนินชีวิต และเศรษฐกิจชุมชน บนฐานแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ของประเทศไทย โดยบูรณาการองค์ความรู้จากงานวิจัยทางประวัติศาสตร์ ภูมิทัศน์ และวัฒนธรรมขุนยวม ไปดำเนินการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ ผ่านการมีส่วนร่วมของสถาบันการอุดมศึกษา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) พร้อมด้วยการสนับสนุนจากเจ้าอาวาสวัดม่วยต่อ วัดคำใน นายกเทศมนตรีตำบลขุนยวม และผู้จัดการโรงแรมยุ้น ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน เทศบาลตำบลขุนยวม โดยตั้งเป้าหมายให้เกิดเป็นข้อเสนอแนะ และการจัดทำแผนขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนร่วมกับ อปท.ท้องถิ่น
“ชุมชนขุนยวม ดำเนินกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวอยู่แล้ว โดยมีกลุ่มเอกชน คือ โรงแรม คณะครู ช่างฝีมือ ปราชญ์ชุมชนและบุคคลวัยเกษียณมาทำงานร่วมกัน โครงการวิจัยจึงได้พัฒนากระบวนการเรียนรู้ และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่ชุมชนเป็นผู้ที่มีบทบาทในการอนุรักษ์และสืบทอด โดยที่ผ่านมาได้จัดกิจกรรมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการให้คณะครู และนักเรียนจากโรงเรียนต่าง ๆ ในพื้นที่ เพื่อพัฒนาเป็นหลักสูตรท้องถิ่นด้านประวัติศาสตร์ชุมชน จำนวน 75 คน ร่วมกับ อปท. และกำนันผู้ใหญ่บ้านอีกจำนวนหนึ่ง รวมทั้ง สร้างความรู้ความเข้าใจการจัดทำบัญชีรายการโบราณวัตถุ-ศิลปวัตถุแด่พระภิกษุสงฆ์ และชุมชนให้เห็นสำคัญและคุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะงานศิลปกรรมทางพระพุทธศาสนาอันล้ำค่าที่มีอยู่ของวัดมวยต่อ และวัดคำใน พร้อมขยายเครือข่ายโครงการวิจัย และช่องทางการประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างการรับรู้ที่ดี อันเป็นส่วนหนึ่งของแรงสนับสนุน ให้ชุมชนสามารถปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีได้” ดร.วิภารัตน์ กล่าว


การดำเนินการวิจัยได้เสนอกระบวนการให้ อปท. บริหารจัดการมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ ส่งเสริมภูมิทัศน์มรดกทางวัฒนธรรมในเขตพื้นที่ขุนยวม ผ่านแผนแม่บทการขับเคลื่อนการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์มีชีวิตขุนยวมสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนระยะ 4 ปี (พ.ศ. 2565 – 2568) สอดรับกับ 10 เป้าหมาย (SDGs) ของประเทศ

นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาหลักสูตรแก่สถานการศึกษาและแหล่งเรียนรู้ใน อ.ขุนยวม เพื่อให้นักเรียน ครู ปราชญ์ชาวบ้านและคนในชุมชน เห็นถึงคุณค่าความสำคัญของการรักษาวัฒนธรรมในชุมชนของตนเอง ผ่านการจัดทำหลักสูตรและสาระการเรียนรู้ จำนวน 4 หลักสูตร ประกอบด้วย หลักสูตรผู้สืบสานงานช่างหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านขุนยวม แม่ฮ่องสอน สาระสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมช่วงชั้นที่ 4 (ม. 4 – 6) รายวิชามรดกทางวัฒนธรรมขุนยวม แม่ฮ่องสอน หลักสูตรการอนุรักษ์ศิลปกรรม และหลักสูตรการพัฒนาทักษะการเป็นมัคคุเทศก์ท้องถิ่นเพื่อการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอำเภอขุนยวม ศูนย์ประสานงานพิพิธภัณฑ์มีชีวิตขุนยวม โดยการสนับสนุนจาก วช. สถาบันการศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนเมืองชายแดนและนับเป็นย่างก้าวแรกในการสร้างความมั่นคงทางวิชาการด้านวัฒนธรรมในพื้นที่ อ.ขุนยวม.