ภาวะโลกร้อนก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้คนและระบบนิเวศอย่างหนัก แนวคิดเรื่องการใช้พลังงานหมุนเวียนจึงเป็นเรื่องสำคัญและใกล้ตัวเรามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ และพลังงานลม เนื่องจากเป็นพลังงานที่ปลอดภัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถนำกลับมาใช้ได้อีก และที่สำคัญคือช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญระดับโลกที่ต้องอาศัยแรงผลักดันจากทุกภาคส่วน
ทีมงานได้มีโอกาสเยี่ยมชม นวัตกรรมพลังงานสะอาดที่สำคัญ พลังงานแห่งอนาคต ประเภท Solar Farm เปลี่ยนแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้า ณ โรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ บางเขนชัย ของบริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKPower ที่ อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา บนพื้นที่กว่า 185 ไร่ มีการใช้แผงโซลาร์เซลล์กว่า 48,000 แผง กำลังการผลิตติดตั้ง 8 เมกะวัตต์ ใช้เทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์แบบ Thin Film หรือฟิล์มบาง ซึ่งเหมาะกับภูมิประเทศที่มีอากาศร้อนอย่างประเทศไทย
นายธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “CKPower ให้ความสนใจในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะกลุ่มของพลังงานแสงอาทิตย์ เราจึงเข้ามาบุกเบิกและลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ บางเขนชัย แห่งนี้มากว่า 10 ปี โดยมีลักษณะเป็น Solar Farm นอกจากนี้ เรายังมีประเภท Solar Rooftop ที่ติดตั้งสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมอีกจำนวน 5 แห่ง
พลังงานแสงอาทิตย์เป็นหนึ่งในประเภทพลังงานหมุนเวียนที่สำคัญ สอดคล้องกับเป้าหมายของ CKPower ที่มุ่งสู่การเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค และมีคาร์บอน ฟุตพริ้นท์ ต่ำที่สุดรายหนึ่ง รวมถึงร่วมสนับสนุนนโยบายประเทศและสากล ในการลดระดับคาร์บอนอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนในระยะยาว”
ด้านทีมวิศวกรของโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ บางเขนชัย ได้อธิบายเพิ่มเติมถึงขั้นตอนการเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้าว่า การทำงานจะมีกลไกและอุปกรณ์ต่าง ๆ ประกอบไปด้วย แผงโซลาร์เซลล์ เครื่องแปลงกระแสไฟฟ้า (อินเวอร์เตอร์) ตู้กระแสสลับ และหม้อแปลงไฟฟ้า เริ่มจากแสงอาทิตย์ซึ่งเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าและมีพลังงาน มากระทบกับแผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งเป็นสารกึ่งตัวนำจนเกิดเป็นการถ่ายทอดพลังงาน ทำให้กลายเป็นพลังงานไฟฟ้ากระแสตรงขึ้น หลังจากนั้นก็เคลื่อนที่ต่อไปยังเครื่องแปลงกระแสไฟฟ้าเพื่อทำให้กลายเป็นกระแสสลับ แล้วส่งต่อไปสู่ตู้กระแสสลับและหม้อแปลงไฟฟ้า เพื่อเพิ่มแรงดันและส่งเข้าสู่ระบบจำหน่ายไฟฟ้าต่อไป
ทั้งนี้กระบวนการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าได้ผ่านการควบคุมและติดตามผลการดำเนินงานที่สอดคล้องกับมาตรฐานทางด้านสิ่งแวดล้อมของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) นอกจากนี้ยังมีการบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่องผ่านระบบการมอนิเตอร์แบบ Real Time ตลอด 24 ชั่วโมง มีการติดตามประสิทธิภาพของการผลิตไฟฟ้า และทำความสะอาดแผงโซลาร์เซลล์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าสามารถทำงานและรับพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อนำไปผลิตไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
จุดเด่นอีกประการของโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์บางเขนชัย คือการออกแบบระบบการหมุนเวียนนํ้าตามธรรมชาติ ในลักษณะของ On-Site Recycle ที่มีบ่อพักน้ำขนาดใหญ่ไว้คอยกักเก็บน้ำฝนที่ไหลผ่านร่องน้ำแบบหลังเต่า เข้าสู่กระบวนการบำบัดเพื่อนำน้ำมาใช้ในการล้างแผงโซลาร์เซลล์ และควบคุมไม่ให้มีการปล่อยน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ส่งผลให้เกิดการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่ามากที่สุด
“โรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ บางเขนชัย เป็นหนึ่งในโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์จำนวน 9 แห่ง ของ CKPower เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์เมื่อปี 2555 นอกเหนือจากการทำธุรกิจแล้ว CKPower ยังตระหนักถึงการร่วมพัฒนาชุมชนและสังคมโดยรอบ ผ่านกิจกรรมต่างๆ อาทิ “Hero! Solar Zero Waste” เพื่ออบรมเรื่องสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมให้ลดการใช้พลาสติกแก่เยาวชน รวมถึงการร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างงานสร้างอาชีพให้กับคนในชุมชน โดยเจ้าหน้าที่ของโรงไฟฟ้าเป็นคนในพื้นที่ ที่อยู่กับเรามากว่า 10 ปีนับตั้งแต่ดำเนินการโรงไฟฟ้า” นายธนวัฒน์ กล่าว
จากข้อมูลขององค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (Inter-national Energy Agency : IEA) ประเมินว่า ภายในปี 2569 การลงทุนด้านพลังงานไฟฟ้ากว่า 95% ทั่วโลก จะเป็นการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน โดยกว่าครึ่งจะมาจากพลังงานแสงอาทิตย์ จึงไม่น่าแปลกใจว่าทุกวันนี้ เราได้เห็นแผงโซลาร์เซลล์อยู่รอบตัวมากขึ้น ทั้งในรูปแบบโซล่าฟาร์มขนาดใหญ่บนพื้นดิน บนหลังคาบ้านและอาคารต่าง ๆ แม้กระทั่งพื้นน้ำก็มีให้เห็นกัน โดยมีแรงสนับสนุนจากภาครัฐ ตลอดจนปัจจัยสำคัญในการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แนวโน้มต้นทุนการผลิตที่ต่ำลง และสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยที่อยู่ในแนวเส้นศูนย์สูตร ทำให้ระยะเวลาในการได้รับแสงอาทิตย์ในช่วงกลางวันมีความใกล้เคียงกันตลอดทั้งปีส่งผลให้ พลังงานแสงอาทิตย์เป็นอีกหนึ่งพลังงานหมุนเวียนที่สำคัญและเป็นต้นแบบการรักษ์โลกอย่างยั่งยืน