เมื่อวันที่ 22 ก.ค. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข กล่าวระหว่างลงพื้นที่ ตรวจเยี่ยมรพ.บุษราคัม ให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงาน ว่า รพ.บุษราคัมซึ่งมีความพร้อมทั้งอุปกรณ์ ยา เวชภัณฑ์ ห้องไอซียู และห้องแยกความดันลบ ปัจจุบันมีผู้ป่วยโควิดอยู่ระหว่างการรักษา 3,167 ราย อัตราครองเตียงกว่า 95 % แต่ก็มีบางส่วนที่หายกลับบ้านได้แล้ว พอให้หมุนเวียนเตียงเพื่อรับผู้ป่วยรายใหม่เข้ามาได้ อย่างไรก็ตามเนื่องจากขณะนี้การระบาดเป็นสายพันธุ์เดลตา เป็นเชื้อที่มีความรุนแรงและติดได้ง่ายความรุนแรงของอาการเร็วขึ้นกว่าเดิม ทำให้มีผู้ป่วยอาการหนักเพิ่มมากขึ้น ตนจึงได้สั่งการให้ขยายพื้นที่ในโซนพักผ่อน เพิ่มจำนวนเตียงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อรองรับผู้ป่วยรายใหม่ในแต่ละวันจากการค้นหาเชิงรุกใน กทม. อย่างน้อยมีเตียงหมุนเวียน 50-100 เตียง เพื่อลดปัญหาการรอเตียง และการเข้าไม่ถึงระบบบริการ รวมถึงลดการสูญเสียในบ้าน ช่วยแบ่งเบาภาระให้ได้มากที่สุด
นอกจากนี้ได้สั่งการให้เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) ประสานจัดเตรียมรถพยาบาล รถฉุกเฉิน รถกู้ภัย จัดทีมคาราวานฉุกเฉิน ลงพื้นที่ร่วมกทม. นำผู้ป่วยที่ตกค้างที่เข้าไม่ถึงระบบบริการ อาทิ ริมถนน อยู่ในบ้านที่หาเตียงไม่ได้ นำส่งรพ.บุษราคัม โดยทุกรายจะได้รับการตรวจเชื้อด้วย RT PCR ก่อนคัดแยกเพื่อให้การรักษาที่เหมาะสม หากผลบวกจะรับไว้รักษา แต่หากผลลบจะส่งไปรักษาที่รพ.อื่นๆ ตามอาการ ทั้งนี้ เพื่อให้ได้ใช้ช่วงเวลาที่มีมาตรการล็อคดาวน์ได้อย่างเต็มที่และให้เป็นประโยชน์มากที่สุด เริ่มดำเนินการได้ทันทีที่มีความพร้อม
“สถานการณ์เช่นนี้ไม่มีใครอยากเห็นการสูญเสีย ไม่ว่าจะพื้นที่กทม. หรือพื้นที่ใดๆ ก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขจะพยายามเข้าไปช่วยเหลือแบ่งเบาภาระอย่างเต็มที่ ขอให้ความมั่นใจกับพี่น้องประชาชนทุกคน แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง แม้ว่าเหนื่อยก็ตามยังคงทำงานกันอย่างสุดความสามารถ แต่ไม่ถดถอยและยังทุ่มเทกับการให้การรักษาพยาบาลรักษาชีวิตของผู้ป่วยทุกคน” นายอนุทินกล่าว
ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า วันนี้ (22 ก.ค.) ได้ประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนส์สั่งการให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไป/ชุมชน ทั่วประเทศ จัดทำแนวทางการบริหารจัดการสถานการณ์โรคโควิด 19 ของแต่ละจังหวัดให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เนื่องจากขณะนี้พบจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น และมีความต้องการที่กลับไปรักษาตัวตามภูมิลำเนาอย่างต่อเนื่อง จึงขอให้จังหวัดจัดทำแผนรับผู้ป่วยโควิด 19 ที่กลับภูมิลำเนา บริหารจัดการเตียง และระบบดูแลการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) และการกักตัวในชุมชน (Community Isolation) โดยนำแนวทางที่ส่วนกลางกำหนดปรับใช้ให้ตรงกับบริบทแต่ละพื้นที่ นอกจากนี้ได้มอบหมายให้กรมควบคุมโรครับผิดชอบจัดทำกล่องสำหรับดูแลผู้ป่วยเบื้องต้น จัดส่งไปยังจังหวัดต่างๆ เพื่อดูแลผู้ป่วยที่เข้าระบบรักษาตัวที่บ้าน ลดอาการป่วยหนักและเสียชีวิต ภายในประกอบด้วย ปรอทวัดไข้ เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว ยาพาราเซตามอล ยาฟ้าทะลายโจร หน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวต่อว่า สำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาฟาร์วิพิราเวีย ทางส่วนกลางจะจัดส่งไปในจังหวัดต่างๆ ประมาณ 20,000 – 30,000 เม็ด ในวันที่ 24 ก.ค. นี้ สำหรับบริหารจัดการภายในจังหวัดเพื่อเกิดความสะดวก รวดเร็ว และทันเวลาในการรักษาผู้ป่วย ในส่วนการตรวจหาเชื้อกลุ่มเสี่ยงในชุมชน ขอให้จังหวัดใช้ชุดตรวจโควิด 19 Antigen Test Kit : ATK แทนการตรวจด้วย RT-PCR เพื่อความรวดเร็วในการค้นหา และแยกผู้ติดเชื้อออกจากชุมชน ลดการแพร่ระบาด นำเข้าสู่ระบบการรักษาได้ทันท่วงที และในช่วงเดือนก.ค.-ส.ค.นี้ แต่ละจังหวัดจะได้รับการจัดสรรวัคซีนลงไปยังพื้นที่ โดยขอให้แต่ละจังหวัดเร่งดำเนินการฉีดให้กับกลุ่มเป้าหมายก่อน คือ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป หญิงตั้งครรภ์ และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง เพื่อลดป่วยรุนแรงและลดการเสียชีวิต.