มีคนไทยจำนวนไม่น้อยได้ลองใช้เทคโนโลยี 5 จีกันแล้ว หลังผู้ให้บริการมือถือได้เริ่มให้บริการในเชิงพาณิชย์ มาได้ระยะหนึ่ง

 5 จี เป็นเทคโนโลยีสื่อสาร ไม่จำกัดแค่มือถือเท่านั้น แต่ยังสามารถใช้ในอุปกรณ์ทุกชนิดที่เชื่อมอินเตอร์เน็ตได้ เราจึงเริ่มเห็นการนำ 5 จี มาใช้ประโยชน์ในหลายวงการ ทั้งธุรกิจ อุตสาหกรรม การศึกษา ไปจนถึงเรื่องสุขภาพ โดยมีการทำยูสเคส 5 จี หรือการนำมาทดสอบในโครงการต่างๆอย่างต่อเนื่อง

หนึ่งในนั้นก็คือเรื่อง “การแพทย์ทางไกล” หรือ “เทเลเมดิซีน” โดยทาง คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล ได้ร่วมกับ เอไอเอส และพันธมิตรได้ทำการพัฒนารถโมบาย สโตรก ยูนิต (Mobile Stroke Unit ) หรือ รถพยาบาลในการช่วยเหลือปฐมพยาบาล ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งได้พัฒนามาตั้งแต่ปี 2561 ที่ผ่านมา และเมื่อมีเทคโนโลยี 5 จีในประเทศไทย จึงนำ 5 จี ที่มีความเร็วสูง-ความหน่วงต่ำ และสามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์ ได้จำนวนมากมาช่วยยกระดับศักยภาพการทำงาน ของฟังก์ชันและอุปกรณ์ รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพ ของโครงข่าย ทั้งคุณภาพของสัญญาณ และความครอบคลุมของพื้นที่ ให้เกิดการเชื่อมต่อขั้นตอนการทำงานทั้งระบบ ได้อย่างสมบูรณ์แบบ

รศ.นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช บอกว่า ทางโรงพยาบาล ศิริราช ได้ริเริ่ม ‘โครงการนำร่องการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน โดยหน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่โรงพยาบาลศิริราช’ ซึ่ง ได้รับการสนับสนุนจากภาคส่วนต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง จนพัฒนามาเป็นรถโมบาย สโตรก ยูนิต ที่มีอุปกรณ์ในการสื่อสาร อุปกรณ์ในการตรวจวินิจฉัย มีเครื่องเอกซเรย์ซีทีบนรถ เมื่อได้รับการติดต่อจาก สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) 1669  ก็จะให้รถไปยังจุดนัดหมาย คือ ปั๊มน้ำมัน ปตท.ที่เป็นผู้สนับสนุนโครงการ เพื่อรอรับผู้ป่วยจากรถมูลนิธิ หรือรถพยาบาลที่นำส่งผู้ป่วยมาจากบ้าน

 แล้วทำการตรวจวินิจฉัยเบื้องต้นบนรถ ส่งภาพเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์มาที่โรงพยาบาล ซึ่งต้องอาศัยเครือข่ายทางโทรคมนาคม เมื่อแพทย์เฉพาะทางที่โรงพยาบาลวินิจฉัยจากภาพเอกซ์เรย์แล้วก็สั่งการรักษาบนรถได้เลย ขณะที่รถกำลังวิ่งกลับมาที่โรงพยาบาล

“แนวคิดของรถโมบาย สโตรก ยูนิต เหมือนง่าย แต่การดำเนินการยากมีรายละเอียดตั้งแต่ การออกแบบรถ ระบบสื่อสาร การออกแบบเครื่องมือให้สามารถใช้งานได้บนรถ ถือเป็นก้าวที่สำคัญในการร่วมกันพัฒนาเครือข่ายการรับ-ส่งผู้ป่วย รวมทั้งเปิดโอกาสใหม่ ๆ ของ การพัฒนาระบบให้บริการด้านการรักษาพยาบาลทางไกล เอื้อต่อการให้ปรึกษา จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรักษาผู้ป่วยฉุกเฉิน ที่นำมาสู่การลดอัตราการเสียชีวิตหรือพิการของผู้ป่วย และเป็นแบบอย่าง ให้แก่องค์กรแพทย์อื่นๆ ได้ร่วมดำเนินการต่อไป”

ขณะที่ รศ.นพ.ยงชัย นิละนนท์ ประธานศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่า โรคหลอดเลือดสมอง เป็นภาวะโรคที่สำคัญของทุกประเทศทั่วโลก โดยมีงานวิจัย หลังผู้ป่วยออกจาก รพ. 70% ของคนไข้จะพิการ อีก 25% จะหายกลับคืนเป็นปกติ และ 5% จะเสียชีวิต โดยโรคนี้ 80% จะอยู่ในประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนา ซึ่งไทยก็จัดอยู่ในกลุ่มนี้ โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่สังคมสูงวัยมากขึ้น

“การรักษาโรคนี้ขึ้นกับเวลาโดยโรคหลอดเลือดสมองทั้งหมดมี 2 ชนิด คือ ชนิดตีบพบประมาณ 80% และชนิดแตกพบ 20% สิ่งสำคัญคือต้องเปิดหลอดเลือดให้เร็วที่สุด โดยมี 2 วีธี คือ ฉีดยาสลายลิ่มเลือด ต้องทำภายใน 4.5 ชั่วโมงหลังเกิดอาการ และอีกวีธีคือการเปิดหลอดเลือดโดยใช้สายสวน ซึ่งมี รพ.ศูนย์น้อยมากที่จะทำได้ ปัญหาสำคัญของหน้างานในการรักษาคือ จะต้องทำการ ซีทีสแกน แต่ผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงได้ยาก และ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหลอดเลือดสมองมีอยู่ 700 คนทั่วประเทศ กว่า 400 คน อยู่ใน กทม. การรักษาทางไกลรับส่ง ข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตความไวสูง จะช่วยลดปัญหาได้ระดับหนึ่ง เมื่อแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่อยู่ กทม.หรือรพ.ศูนย์ฯรับภาพจากรถที่ส่งมาแบบเรียลไทม์ มองเห็นคนไข้และภาพสแกน สามารถวินิจฉัย ให้การรักษาได้เร็วขึ้น”

ปัจจุบันโครงการฯมีรถ 5 คัน จากแผนทั้งหมด 8 คัน โดยตอนนี้คันที่ 6 กำลังอยู่ในสายการผลิต และจะมีเรือต้นแบบ 1 ลำ ขณะนี้ รถ 5 คันประจำอยู่ที่ กทม. , โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชจอมบึง จ.ราชบุรี, โรงพยาบาลคีรีรัฐนิคม จ.สุราษฎร์ธานี, โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเชียงของ จ.เชียงราย และ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช จ.สระแก้ว ซึ่งปัจจุบันสามารถให้บริการผู้ป่วยไปแล้ว 700 ราย

 ด้านผู้ออกแบบและพัฒนารถ คือ “ผศ.ดร.พรชัย ชันยากร” รองคณบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพกระบวนงาน ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล บอกว่า การออกแบบและการทดสอบต้องเข้าใจ การทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ในการรักษาผู้ป่วยโรคนี้ โดยตัวรถและระบบต้อง ผ่านการทดสอบสมรรถนะ มาตรฐานความปลอดภัยด้านยานยนต์ มาตรฐานความปลอดภัยด้านรังสี ติดตั้งและทดสอบระบบกู้ชีพ ระบบการแพทย์ทางไกลและสามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์สื่อสารภายในรถกับ โครงข่ายสัญญาณ 5จี ได้อย่างเป็นเนื้อเดียวกัน

ส่วนผู้พัฒนาดูแลโครงข่ายให้รองรับการใช้งาน “นายวสิษฐ์ วัฒนศัพท์” หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการ และสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ เอไอเอส บอกว่า เอไอเอสและคณะทำงาน ได้ร่วมกันพัฒนาอุปกรณ์ภายในรถ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและกระจายสัญญาณ อาทิ 5จี ซีพีอี ที่รองรับสัญญาณการแจ้งเหตุได้อย่างรวดเร็ว การเพิ่มคุณภาพของสัญญาณการส่งภาพจากกล้องภายในรถ หรือแม้แต่ภาพ ซีทีสแกน ที่มีความจำเป็นต้องส่งขึ้นคลาว์ด อย่างเร็วที่สุด เพื่อให้ทีมแพทย์ได้วินิจฉัยรวมถึงประเมินอาการระดับความรุนแรง หรือแม้แต่การปฐมพยาบาล เพื่อรักษาในเบื้องต้นได้ทันเวลา

“หลังได้ขยายบริการรถไปยังภูมิภาค ต้องลงพื้นที่นั้นๆเพื่อทดสอบสัญญาณตามเส้นทางพื้นที่บริการที่รถวิ่งต้อง เพื่อให้คุณภาพสัญญาณต้องเสถียร ไม่หลุด หรือขาดหาย พื้นที่ไหนต้องเพิ่มสถานีเครือข่ายก็ต้องติดตั้งเพิ่ม เพื่อให้ การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตมีความเร็วที่เพียงพอในการรับส่งข้อมูล เพราะหมายถึงโอกาสในการช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ดียิ่งขึ้น”

 ถือเป็นโครงการที่นำเทคโนโลยีมาช่วยยกระดับสาธารณสุข ช่วยรักษาผู้ป่วยให้เข้าถึงการรักษาได้เร็วขึ้น ซึ่งหมายถึงโอกาสรอดชีวิตและหายเป็นปกติของผู้ป่วยก็มากขึ้นด้วย!!

จิราวัฒน์ จารุพันธ์