บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด จัดกิจกรรม “Up to the MAX” เชิญสื่อมวลชนสายยานยนต์ไปสัมผัสสมรรถนะของรถยนต์ ซูซูกิ สวิฟท์ ที่ใช้เครื่องยนต์รหัส K12M ขนาด 1.2 ลิตร และปลอดภัยอย่างเหนือชั้น ด้วยแพลต ฟอร์ม HEAR TECT เทคโนโลยีเฉพาะของซูซูกิ ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อช่วยเสริมให้รถมีน้ำหนักน้อยลง แต่ยังคงความแข็ง แกร่งและประหยัดน้ำมันมากขึ้น รวมถึงโครงสร้างตัวถังแบบ TECT ช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งของตัวรถ ซึ่งพร้อมให้ทดสอบการขับขี่อย่างเร้าใจ ที่สนามพีระ อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต
สำหรับรถซูซูกิ สวิฟท์ ที่ได้ขับในทริป นี้เป็นรุ่น 1.2 จีแอลเอ็กซ์ รุ่นล่าสุดที่ได้รับการปรับโฉมด้านนอกและภายในที่ประกอบไปด้วยกระจังหน้าดีไซน์ใหม่พร้อมตกแต่งด้วยโครเมียม ล้ออัลลอยดีไซน์ใหม่แบบปัดเงาขนาด 16 นิ้ว ตกแต่งภายในห้องโดยสารด้วยวัสดุสีเงิน ใส่หน้าจอแบบสัมผัสเครื่องเสียงใหม่ขนาด 8 นิ้ว รองรับแอปเปิล คาร์เพลย์ และแอนดรอยด์ ออโต้ มีกล้องมองภาพขณะถอยจอด
ในส่วนของเส้นทางการขับในสนามพีระฯ ครั้งนี้มีหลายสถานี รวมทั้งยังเพิ่มความยากขึ้นอีกด้วยการวิ่งวนซ้ายย้อนเส้นทางปกติ ที่สถานีแรกจะเป็นการกลับรถอ้อมกรวยยางแบบ 360 องศา เพื่อให้เห็นถึงจุดเด่นของรถยนต์ซูซูกิ สวิฟท์ ที่มีความคล่องตัวเหมาะกับการใช้งานในเมืองที่มีตรอกซอกซอยอยู่มาก เพราะรถรุ่นนี้มีรัศมีวงเลี้ยวที่แคบเพียง 4.8 เมตรเท่านั้น
สถานีที่ 2 เป็นการขับแบบเลนเชนจ์หรือการเปลี่ยนช่องทางอย่างรวดเร็ว ส่วนสถานีที่ 3 เป็นการขับแบบสลาลอม ในทั้งสองสถานีนี้จะเห็นได้ว่าสวิฟท์เป็นรถที่มีการตอบสนองของพวงมาลัยแม่นยำและมีน้ำหนักกำลังดี สำหรับทัศนวิสัยโดยรวมจากตำแหน่งคนขับ เป็นรถที่มีมุมมองด้านหน้ากว้างขวางและมีจุดอับน้อย เช่นเดียวกับมุมมองที่ผ่านกระจกมองข้างขนาดใหญ่ ส่วนมุมมองด้านหลังนั้นติดตรงตัวหมอนรองศีรษะที่ค่อนข้างสูง แต่ไม่มีปัญหากับการถอยหลังเข้าจอดเพราะตอนนี้รุ่น 1.2 จีแอลเอ็กซ์ มีกล้องมองหลังติดมาให้ด้วย
ส่วนการทำงานของระบบช่วงล่างนั้นถูกเซตมาให้ค่อนข้างนิ่มนวลนั่งสบาย เหมาะสมดีแล้วสำหรับการใช้งานแบบรถขับประหยัดในเมืองใหญ่ ส่วนการวิ่งในช่วงความเร็วสูง ๆ ในแบบสลาลอมนั้น การทำงานของระบบช่วงล่างให้ความรู้สึกมั่นใจดี แต่เมื่อต้องเข้าโค้งแคบเร็ว ๆ รู้สึกว่ายังมีอาการโยนตัวด้านท้ายรถเยอะไปสักหน่อย สถานีที่ 4 เป็นการเบรกพร้อมกับการเปลี่ยนช่องทางเพื่อหลบสิ่งกีดขวาง และสถานีที่ 5 เป็นการทดลองระยะเบรกอย่างกะทันหันขณะใช้ความเร็วสูง ซึ่งการทำงานของระบบเบรกแบบดิสก์ทั้ง 4 ล้อในซูซูกิ
สวิฟท์ รุ่น 1.2 จีแอลเอ็กซ์ ที่มีระบบเบรกแบบป้องกันล้อล็อกตาย (เอบีเอส) นั้นวางใจได้ เมื่อต้องลดความเร็วพร้อม ๆ กับการเปลี่ยนช่องทางอย่างกะทันหัน ตัวรถก็ยังอยู่ในการควบคุมไม่เสียการทรงตัว ส่วนการเบรกจากความเร็วสูง ๆ จนถึงจุดหยุดนิ่งก็มีระยะทางที่สั้นให้ความปลอดภัยน่าพอใจ โดยรวมแล้วซูซูกิ สวิฟท์ รุ่น 1.2 จีแอลเอ็กซ์ ก็ยังคงเป็นรถอีโคคาร์ที่โดดเด่นในเรื่องความสะดวกสบายภายในห้องโดยสาร โดยเฉพาะเบาะนั่งคู่หน้าที่กว้างขวางนั่งสบายไหล่ไม่ชนกัน ตัวเบาะและพวงมาลัยปรับได้หลายทิศทางจึงช่วยให้สามารถปรับท่านั่งได้อย่างเหมาะสม ส่วนความกว้างของห้องโดยสารตอนหลังก็ต้องขึ้นอยู่กับขนาดตัวของคนนั่งหน้าด้วย
แต่โดยรวมแล้วโปร่งโล่งสบายดีเพราะฐานล้อมีขนาดความยาวถึง 2,450 มม. และยังมีอุโมงค์กลางพื้นรถเตี้ยอีกด้วยขณะที่เบาะหลังสามารถพับลงไปได้แบบ 40/60 เมื่อต้องการพื้นที่บรรทุก ในด้านของสมรรถนะนั้น สวิฟท์จึงเป็นรถอีโคคาร์ที่มีอัตราเร่งออกตัวที่ว่องไว การเปลี่ยนตำแหน่งของเกียร์ในจังหวะต่าง ๆ เป็นไปอย่างราบเรียบ และสามารถเร่งแซงช่วงความเร็ว 80-100 กม./ชม. ได้อย่างรวดเร็วน่าพอใจ สำหรับอุปกรณ์ติดรถและระบบความปลอดภัยต่าง ๆ มีมาให้เหมาะสมกับราคาที่ตั้งไว้ 629,000 บาท.