นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยสำรวจความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการค้าปลีกประจำเดือน ก.พ. 65 พบว่า ผู้ประกอบการผู้ค้าปลีกมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น 9.3 จุด ขึ้นมาอยู่ที่ 52.7 และอีก 3 เดือนข้างหน้ายังปรับดีขึ้นเล็กน้อยอีก 5.6 จุด เนื่องจากมาตรการภาครัฐที่มาถูกเวลา ทั้งโครงการคนละครึ่ง และช้อปดีมีคืน รวมถึงความร่วมมือของสมาคมผู้ค้าปลีกไทย และภาคีเครือข่ายในการตรึงราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น พร้อมกับการทำโปรโมชั่นส่งเสริมการขายอย่างหนัก เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน
ทั้งนี้ จากผลการสำรวจพบว่า ผู้ประกอบการ 44% อาจจะพิจารณาปรับค่าจ้าง แต่ไม่เกิน 5% ในขณะที่ผู้ประกอบการ 33% ยังไม่พิจารณาปรับค่าจ้าง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงลังเลที่จะปรับค่าจ้าง ในขณะที่ธุรกิจยังไม่ฟื้นตัว และสถานการณ์เศรษฐกิจก็ยังไม่มีความชัดเจน แม้ผู้ประกอบการจะบอกว่าผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโอมิครอนจะน้อยกว่าเดลตาถึง 63% แต่ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเดลตาที่มาก่อนหน้านี้ยังไม่ฟื้นตัว ทำให้ภาพรวมของธุรกิจยังได้รับผลกระทบอยู่
สำหรับผลสำรวจความคิดเห็นจากโครงการช้อปดีมีคืน ทำให้เห็นได้ว่า ช่วยกระตุ้นให้ลูกค้าจับจ่ายมากขึ้น 59.5% แม้ว่าในช่วงเวลาที่เริ่มต้นโครงการเป็นช่วงเดียวกันกับการแพร่ระบาดของโอมิครอน ทำให้มู้ดในการจับจ่ายใช้สอยไม่ดีเท่าที่ควร และหากโครงการช้อปดีมีคืนสามารถทำเฟสต่อไปได้ โดยขยายเวลาเป็น 3 เดือน และขยายวงเงินเป็น 100,000 บาท คาดว่าจะทำให้มีเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ช่วยให้ผู้ประกอบการ และเอสเอ็มอีไทย สามารถดำรงสภาพคล่องและคงการจ้างงานไว้ได้
“จะเห็นได้ว่า กำลังซื้อของผู้บริโภคยังไม่ฟื้นตัวมากนัก การกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐยังเป็นสิ่งจำเป็นและต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังต้องมุ่งมั่นในการเพิ่มกำลังซื้อให้ประชาชนอย่างรวดเร็วและรอบด้าน นอกจากนี้ ภาครัฐต้องมีนโยบายที่ชัดเจน ส่งเสริมให้เอกชนลงทุนภายในประเทศเพื่อเพิ่มการจ้างงาน ซึ่งในระยะยาวจะส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชนฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง ท้ายที่สุดนี้คือ การร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจของทุกภาคส่วน จะเป็นพลังในการขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยได้ไปต่อ”
อย่างไรก็ตาม สมาคมฯจึงอยากย้ำ 3 ข้อเสนอต่อภาครัฐ ได้แก่ 1.เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการลงทุนโดยภาครัฐ ให้มีการอนุมัติและดำเนินการโครงการต่าง ๆ เพื่อสร้างเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว 2.พยุงราคาพลังงานให้คงที่และได้นานที่สุด เช่น การใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และการออกมาตรการควบคุมราคาค่าขนส่ง และ 3.คงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐไว้อย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชน เพื่อให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ ผ่านโครงการคนละครึ่งและโครงการช้อปดีมีคืน