เมื่อวันที่ 22 ก.ค. นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงกรณีที่ข้อเรียกร้องถึงระบบบริการสาธารณสุข ไม่ควรเรียกหาผลตรวจโควิดด้วยวิธีการ RT-PCR หากมีการตรวจโควิดโดยชุดตรวจแอสติเจน เทสต์ คิต (ATK) แล้วผลเป็นบวก ว่า กรณีที่มีการตรวจด้วยชุดตรวจ ATK แล้วผลเป็นบวก หากมีไม่มีอาการหรืออาการสีเขียว ก็ให้ทำการกักตัว ดูแลตัวเองที่บ้าน (Home Isolation)โดยไม่ต้องมีการตรวจซ้ำด้วย RT-PCR แต่กรณีที่ไม่สามารถดูแลตัวเองที่บ้านได้ ต้องเข้ามาทำการดูแลรักษาในระบบชุมชน (Community Isolation) หรือกรณีจะต้องเข้ารับการรักษาใน รพ.ก็ยังจำเป็นต้องทำการตรวจซ้ำด้วยวิธีมาตรฐาน เพราะต้องไม่ลืมว่าชุดตรวจ ATK นั้นยังมีการให้ผลบวกลวงด้วย จึงต้องตรวจซ้ำเพื่อป้องกันไม่ให้นำคนที่อาจจะไม่ได้ติดเชื้อจริงๆ มาอยู่รวมกับคนที่ติดเชื้อ

“คนที่ทำ Home Isolation ไม่ต้องสวอบทำ RT-PCR ซ้ำ แต่คนที่อยู่บ้านไม่ได้ก็ต้องไปอยู่ Community Isolation ก็ต้องทำ RT-PCR ปัญหาคือมันหาที่ไม่ได้ ตอนนี้เราทำอยู่ที่อาคารนิมิบุตร ทั้งสวอบทำ RT-PCR ทั้งแรกรับ และส่งต่อ แต่เราอยากเปิดแบบนี้มากขึ้น โดยอยากเปิดเพิ่มที่บางขุนเทียน จริงๆ เรื่องนี้มีมติกันตั้งแต่เดือน พ.ค.แล้ว แต่ทาง กทม.บอกว่าไม่พร้อม ถ้า กทม.พร้อมทำตรงนี้ เราจะมีจุดเพิ่มและรับคนไข้ได้มากขึ้น ท่านผู้อำนวยการสำนักการแพทย์เสนอว่าให้เอาศูนย์พักคอยมาทำสวอบได้หรือไม่ แต่มันยังไม่ค่อยพร้อม เพราะทำโดยชุมชน ถ้ามีการเปิดที่บางขุนเทียนสักที่ก่อน แล้วจากนี้ศูนย์พักคอยที่ไหนจะยกระดับก็ค่อยว่ากัน” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

เมื่อถามว่าขณะนี้มีภาพผู้ป่วยเสียชีวิตตามบ้าน จึงมีผู้กังวลว่าการให้ผู้ป่วยรักษาตัวเองที่บ้านนั้นมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ตนขอแสดงความเสียใจกับผู้ที่เสียชีวิต แต่ก็ต้องเรียนตรงๆ ว่า คนกลุ่มนี้ยังไม่ได้มีการเข้าสู่ระบบการดูแลตัวเองที่บ้าน และไม่พบว่ามีการเข้าสู่ระบบอย่างไรบ้าง วันนี้จากการติดตามระบบการประสานงานของสายด่วน 1668 สามารถเคลียร์ผู้ป่วยได้วันต่อวันแล้ว จึงยังไม่ทราบว่าผู้ป่วยเหล่านี้มีการประสานไปจุดใด อย่างไร ดังนั้นหากผู้ป่วยที่มีปัญหา ขอให้โทรฯ มาที่ 1330, 1668, หรือกรอกข้อมูลได้ที่ไลน์ @1668.reg แล้วกรอกข้อมูลไว้ ตอนนี้เท่าที่รายงานมา เราตั้ง รพ.เสมือนจริง (Virtual Hospital) ไว้ที่กรมการแพทย์ มีทีมงานของกรมร่วมกับภาคประชาสังคม เพื่อรองรับเคสที่มีปัญหาเรื่องเตียงรองรับ

“ตอนนี้อย่างที่มีการชี้แจงไปแล้วว่าเตียงไอซียูไม่เพียงพอ ผู้ป่วยใหม่มีความต้องการใช้เตียงไอซียูประมาณ 3% และ 1 คน นอนไอซียูใช้เวลาประมาณ 20 วัน จากตัวเลขผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นในแต่ละวัน รอบหนึ่งเราต้องการเตียงไอซียู 1.8 พันเตียง แต่ตอนนี้มีเตียงไอซียูที่เบ่งเต็มที่แล้ว 700-800 เตียง แล้วที่เหลือจะไปหาที่ไหน การที่มีผู้ป่วยเกินพันจึงเป็นเรื่องยากมาก” อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ทั้งนี้ตั้งแต่ที่มีการใช้ระบบดูแลตัวเองที่บ้านแล้วนั้น เฉพาะรายงานที่ รพ.ราชวิถี ทำร่วมกับกรมการแพทย์ทำพบว่าไม่ถึง 10% ที่มีอาการเปลี่ยนแปลงต้องเข้ารับการรักษาใน รพ. เนื่องจากตอนที่เริ่มทำจะมีการตรวจสอบ คัดกรองอาการกันเบื้องต้นอยู่แล้วว่าให้สามารถทำการรักษาตัวเองที่บ้านได้หรือไม่ ทั้งนี้ ปัจจุบันเฉพาะตัวเลขของกรมการแพทย์ทำไปแล้วประมาณ 1.5 พันราย และยังมีโรงเรียนแพทย์ และ กทม.อีก น่าจะเป็นหลักหลายพันราย ตอนนี้กำลังเชิญชวน รพ.เอกชน และคลินิกชุมชนอบอุ่นมาทำ Home Isolation เพิ่ม ยืนยันว่ามีระบบติดตาม ยังไม่มีรายใดมีปัญหา

อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้กำลังจะเพิ่มฮอสพิเทลเพื่อรับผู้ป่วยสีเหลือง เมื่อวันที่ 21 ก.ค.ที่ผ่านมา ท่านอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้มีการชี้แจงกับ รพ.เอกชนหมดแล้วว่าอยากจะแปลงเตียงในฮอสพิเทลสีเขียวให้เป็นสีเหลือง ตอนนี้มีอยู่ 2 หมื่นเตียง ถ้าแปลง 10% จะได้ 2 พันเตียง ถ้า 20% ก็จะมี 4 พันเตียงมาดูคนไข้สีเหลือง มีเครื่องผลิตออกซิเจน เอาคนไข้สีเหลืองไปอยู่ตรงนี้ เพราะฉะนั้นจะเหลือปัญหาเรื่องเตียงสำหรับผู้ป่วยสีแดงอีก แต่ได้ข่าวว่าทหารจะมาเปิด รพ.สนาม หากตรงนี้นำมาช่วยรับผู้ป่วยสีแดงได้ก็จะดีมาก.