เมื่อวันที่ 3 มี.ค. ที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังมอบนโยบาย และเยี่ยมชมการปฏิบัติงานของ กทท. ว่า ได้มอบนโยบายการดำเนินงานให้ กทท. ดังนี้ 1.เร่งรัดโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ระยะที่ 3 และนำระบบท่าเรืออัตโนมัติ (Port Automation) มาใช้ในการปฏิบัติงานและการให้บริการ เพื่อให้เกิดความแน่นอนและแม่นยำในการวางแผน  การบรรทุกและการขนถ่ายสินค้า อำนวยความสะดวกในการบริหารพื้นที่หลังท่า และเชื่อมต่อกับระบบการขนส่งอื่น โดยต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จตามกำหนดในปี 68 เพื่อส่งเสริมศักยภาพของอีอีซี และต้องดำเนินการด้วยความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า 2.ให้ กทท. บูรณาการร่วมกับ กรมเจ้าท่า จัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ ในรูปแบบ เดินเรือภายในประเทศ (Domestic) และระหว่างประเทศ (International) โดยจะเป็นลักษณะการตั้งบริษัทลูกร่วมทุนกับภาคเอกชน จะไม่ให้เป็นรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการทำงาน เบื้องต้นมี 3 บริษัท ประกอบด้วย Domestic 1 บริษัท และ International 2 บริษัท แบ่งเป็น ฝั่งตะวันออก อ่าวไทย และฝั่งตะวันตก อันดามัน คาดว่าภายในปี 65 จะสามารถเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบตั้ง 1 บริษัท Domestic ก่อน ทั้งนี้ การจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ จะช่วยเพิ่มสัดส่วนการขนส่งสินค้าทางน้ำ ลดต้นทุนการขนส่งโลจิสติกส์ สนับสนุนการส่งออกและนำเข้า รวมทั้งลดการขาดดุลบริการด้านค่าระวางเรือ และเสริมศักยภาพการแข่งขันให้กับกองเรือไทย

นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า 3.เร่งรัดการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ โดยตั้งเป้าหมายว่าการเบิกจ่ายงบลงทุนของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ต้องไม่น้อยกว่า 95% ของกรอบวงเงินที่ได้รับ 4.สนับสนุนการขนส่งสินค้าทางชายฝั่ง เพื่อส่งเสริมนโยบายการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งจากระบบถนนมาสู่ระบบราง รวมทั้งการขนส่งทางลำน้ำและชายฝั่ง (Shift Mode) เพื่อลดต้นทุนด้านระบบโลจิสติกส์โดยรวมของประเทศ รวมทั้งเป็นการพัฒนาเส้นทางการขนส่งสินค้าทางน้ำในประเทศ 5.เร่งรัดโครงการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการโลจิสติกส์ ช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ในภาพรวม รวบรวมและกระจายสินค้า เพื่อสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค รวมทั้งเชื่อมการขนส่งระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนสู่ท่าเรือกรุงเทพ (ทกท.) และท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.)

นายศักดิ์สยาม กล่าวด้วยว่า 6.พัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์ (Landbridge) ให้ กทท. เข้ามาบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ความเห็นและมีส่วนร่วมในการพัฒนารูปแบบการลงทุน และ Business Model เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มความสะดวก และลดต้นทุนของระบบโลจิสติกส์อย่างเป็นรูปธรรม และ 7.ให้เร่งปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทเนอร์ ต้องดำเนินการให้เป็นระบบ มีการประชุมระดมความคิดเห็นร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง และวางแผนบริหารจัดการทั้งด้าน Demand และ Supply เพื่อลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ

นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า ขอชื่นชมการทำงานของ กทท. ซึ่งแม้จะเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่ยังสามารถทำให้ผลประกอบการเป็นบวกได้ โดยมีรายได้ในปี 64 สูงขึ้นกว่าปี 63 กว่า 600 ล้านบาท และเมื่อเทียบอันดับโลก พบว่าปี 64 ท่าเรือแหลมฉบัง เข้าสู่ 1 ใน 20 ของโลก มีปริมาณตู้สินค้า 8.4 ล้าน ที.อี.ยู โดยปี 63 อยู่ในอันดับที่ 22 ทั้งนี้ คาดว่าหากเปิดให้บริการท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ในปี 68 จะมีปริมาณตู้สินค้าเพิ่มขึ้นเป็น 18 ล้าน ที.อี.ยู  ซึ่งน่าจะขึ้นมาติดท็อปเท็นของโลกได้ ส่วนปี 72 เมื่อแลนด์บริดจ์เสร็จสมบูรณ์ จะทำให้ปริมาณตู้สินค้าเพิ่มขึ้นเป็น 40 ล้าน ที.อี.ยู