ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พระโกศัยเจติยารักษ์ รองเจ้าคณะจังหวัดแพร่ เจ้าอาวาสวัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง ประธานฝ่ายสงฆ์ นายสมหวัง พ่วงบางโพ ผวจ.แพร่ ประธาน ฝ่ายฆราวาส พร้อมด้วย ส.อ.หญิงกรวรรณ สุ่มมาตย์ วัฒนธรรมจังหวัดแพร่ นายอนันต์ สีแดง ผอ.ททท.แพร่ นายพิภพ ถานะวุฒิพงศ์ รองนายก อบจ.แพร่ นพ.ขจร วินัยพานิช นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดแพร่ ร่วมกันแถลงข่าวจัดงาน “ประเพณีไหว้พระธาตุช่อแฮ เมืองแพร่แห่ตุงหลวง” ประจำปี 2565 รวมพลคนปีขาล สืบสานตำนานพระธาตุช่อแฮ ประชาสัมพันธ์เชิญชวนพุทธศาสนิกชนให้มาเที่ยวและนมัสการพระธาตุช่อแฮ ซึ่งเป็นปูชนียสถานอันศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของ จ.แพร่ ตลอดจนเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและสืบสานขนบธรรมเนียมประเพณีของจังหวัดแพร่ และร่วมกันอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม ให้คงอยู่สืบไป

วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง เป็นวัดเป็นวัดคู่เมืองขอ งจ.แพร่ และภาคเหนือ จึงมีคำกล่าวว่า หากมาเที่ยว จ.แพร่ แต่ไม่ได้ไปนมัสการพระธาตุช่อแฮ เสมือนหนึ่งมาไม่ถึงเมืองแพร่ ประกอบกับองค์พระธาตุช่อแฮเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีขาล ในปี 2565 นี้ตรงกับปีนักษัตรปีขาล 12 ปี มีเพียง 1 ครั้ง โดยวัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง ได้มีการจัดงานประเพณีไหว้พระธาตุเป็นประจำทุกปีที่ได้ปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน จนกลายเป็นวัฒนธรรมประเพณีของจังหวัดแพร่ คือ “งานประเพณีไหว้พระธาตุช่อแฮ เมืองแพร่แห่ตุงหลวง” นอกจากนั้น จ.แพร่ ยังได้กำหนดปฏิทินประเพณีกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว ใช้ชื่อว่า รวมพลคนปีขาล 2565 (Year of The Tiger 2022) จึงเป็นโอกาสที่เหมาะสมในการสืบสานวัฒนธรรมที่ดีงามและยังเป็นการสร้างบรรยากาศการท่องเที่ยวภายในจังหวัดตลอดปี 2565

งานประเพณีไหว้พระธาตุช่อแฮ เมืองแพร่แห่ตุงหลวง ประจำปี 2565 จัดขึ้นในวันขึ้น 9 ค่ำ ถึง 15 ค่ำ เดือน 4 ใต้ เดือน 6 เหนือ 7 คืน 7 วัน ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 11-17 มี.ค.65 สำหรับการจัดงานภายใต้สถานการณ์ การแพร่ระบาดโควิด-19 ได้กำหนดจัดแบ่งการเดินขบวนออกเป็น 5 วัน แบบ Social Distancing ลดการสัมผัสใกล้ชิด และเพื่อลดการแพร่กระจายของโรคในแต่ละวัน ผู้ร่วมเดินขบวนต้องได้รับการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 2 เข็ม ซึ่งสามารถติดตามรับชมได้ทั้งแบบ Onsite และ Online ผ่านการ Live สดผ่าน Facebook : วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง และสมาคมคนแพร่ โดยรูปแบบขบวนในแต่ละวันนั้นดำเนินการภายใต้แนวคิดประวัติความเป็นมาของวัดพระธาตุช่อแฮ ตั้งแต่อดีต-ปัจจุบัน

นอกเหนือจากการจัดขบวนเครื่องสักการะและของดีประจำอำเภอแล้ว ยังมีกิจกรรมอื่นๆ ได้แก่ การจัดตลาดวัฒนธรรมภูมิปัญญา “งามแท้วิถีไทย ประทับใจวิถีแพร่” สัมผัสเสน่ห์สินค้าทางวัฒนธรรมของจังหวัดแพร่ พร้อมรับชมการแสดงทางศิลปวัฒนธรรมตลอดระยะเวลาของการจัดงาน ในวันที่ 16 มี.ค. มีการประกวดตีกลองปูจา วันที่ 17 มี.ค. การประกวดฟ้อนกลองอืด จึงขอเชิญชวนมาเที่ยวมาชม มาร่วมทำบุญสักการะพระธาตุช่อแฮ ในงานประเพณีไหว้พระธาตุช่อแฮ เมืองแพร่แห่ตุงหลวง ประจำปี 2565 วันที่ 11-17 มีนาคม 2565 นี้

พระโกศัยเจติยารักษ์ กล่าวว่า ภายในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ พิธีเจริญพระพุทธมนต์สมโภชองค์พระธาตุช่อแฮ พิธีถวายผ้าห่มองค์พระธาตุช่อแฮพระราชทาน พิธีอัญเชิญตุงถวายบูชาพระธาตุช่อแฮเป็นพุทธบูชา ถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระราชชนนีพันปี ทรงเจริญชนมายุครบ ๙๐ พรรษา และถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระราชินีฯ พิธีสืบชะตาสะเดาะเคราะห์วันเสาร์ปฏิบัติธรรมอายุยืนยาววันอาทิตย์ พิธีทำบุญตักบาตร การปฏิบัติธรรม การแข่งขันตีกลองปูจาพญาขาล การจำหน่ายสินค้าชุมชนโอทอป และไฮไลท์เชิญรับชมขบวนเครื่องสักการะ เพื่อบูชาองค์พระธาตุอย่างยิ่งใหญ่ตระการตาจาก ทั้ง 8 อำเภอของจังหวัดแพร่ ขบวนช้างเจ้าหลวงเมืองแพร่ และขบวนแห่ตุงหลวง

ด้าน นายสมหวัง กล่าวว่า ในปี พ.ศ. 2565 จ.แพร่ ได้ส่งเสริมให้เป็นปีท่องเที่ยวปีขาล ภายใต้การใช้ชื่อกิจกรรม “รวมพลคนปีขาล 2565” (Year of The Tiger 2022) หัวใจหลักของกิจกรรม คือ “องค์พระธาตุช่อแฮ” เป็นพระธาตุประจำปีเกิดสำหรับผู้ที่เกิดปีขาล โดยใช้รูป “เสือ” เป็นสื่อสัญลักษณ์การจัดงาน และ “ตุงไชย” เป็นส่วนเสริมที่เชื่อมโยงระหว่างชุมชน วัด และนักท่องเที่ยว นอกจากนี้ ได้มีการเตรียมการกับหน่วยงานภาคส่วนต่างๆ เริ่มตั้งแต่การ “เตรียมเมือง” อาทิ การออกแบบตราสัญลักษณ์ (โลโก้) กิจกรรมรวมพลคนปีขาล 2565 เพื่อสร้างภาพลักษณ์แบรนด์จังหวัด ใช้สื่อสารประชาสัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกัน ต่อเนื่องด้วยการขอความร่วมมือให้ทุกภาคส่วนดูแลเรื่องความสะอาดบ้านเรือน ถนนหนทาง สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เข้าสู่การ “แต่งเมือง” มีการรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนร่วมกันประดับตกแต่งด้วยสัญลักษณ์ “ตุงไชย” ตามสถานที่ราชการ บริษัท ห้างร้าน บ้านพักอาศัย ตลอดจนริมถนนสายสำคัญของจ.แพร่