แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงสถานการณ์วิกฤติสงคราม ”ยูเครน -รัสเซีย” ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และราคาน้ำมันพลังงานโลกขยับขึ้นว่า ล่าสุดเช้านี้ (13 มี.ค.) ราคาน้ำมันตลาดเบรนท์เคลื่อนไหวสูงสุดในรอบ 8 ปี ที่ 117 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่งผลให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรียกประชุมรับมือ โดยในส่วนของกระทรวงพลังงาน เตรียมรายงานสถานการณ์โดยเฉพาะการดูแลราคาพลังงานผ่านกลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ยอมรับว่าหากน้ำมันดิบโลกพุ่งไปสู่ระดับ 120-130 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จะรับไม่ไหวสภาพคล่องจะหมดลงทันที
“น้ำมันดิบดูไบที่ทะลุ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จะส่งผลให้เงินไหลออกจากกองทุนน้ำมันเฉลี่ย 8,000 ล้านบาทต่อเดือน หากดูจากสถานะกองทุนน้ำมันฯ วันที่ 27 ก.พ. เงินกองทุนติดลบ 21,838 ล้านบาท แยกเป็นบัญชีแอลพีจีติดลบ 26,826 ล้านบาท บัญชีน้ำมันเป็นบวกเพียง 4,988 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากการเข้าไปตรึงดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร และการตรึงราคาแอลพีจีที่ 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม (กก.)ไปจนสิ้นเดือน มี.ค.65 “
ทั้งนี้หากพิจารณาจากฐานะกองทุนน้ำมันฯทำให้วงเงินที่เตรียมกู้ไว้ลอตแรกในการเข้ามาเสริมสภาพคล่อง 2 หมื่นล้านบาท คงไม่เพียงพอส่งผลให้กองทุนฯเตรียมกู้เพิ่มอีก 1 หมื่นล้านบาทโดยกรอบดังกล่าวเป็นไปตามที่ครม.อนุมัติให้ไว้ไม่เกิน 3 หมื่นล้านบาท และ ทางกระทรวงพลังงานเสนอทางเลือกในการดูแลราคาพลังงานให้เหมาะสมกับสถานการณ์โดยจะเสนอหลายแนวทาง เช่น ขยับราคาดูแลดีเซลเกิน 30 บาทต่อลิตร และขยับราคาแอลพีจี ตามแผนเดิมคือ 1 บาทต่อ กก. รายไตรมาส โดยเสนอรัฐบาลต้องเข้ามาช่วยเหลือ เช่น นำงบกลางมาช่วยเหลือผู้เดือดร้อน กลุ่มเปราะบางเป็นกลุ่มๆ โดยเฉพาะ
สำหรับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลปัจจุบันผู้ค้าน้ำมันเอกชนปรับเกิน 30 บาทต่อลิตร ไปแล้ว ขณะที่โออาร์ และบางจาก ราคาดีเซล อยู่ที่ 29.74 บาทต่อลิตร ท่ามกลางค่าการตลาดดีเซลที่ต่ำ คงจะต้องจับตาดูว่าท้ายสุดโออาร์ และบางจากจะมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่ที่จะชนเพดาน 30 บาทต่อลิตร