นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ในการประชุมติดตามสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน ซึ่งมีกระทรวงพาณิชย์ ร่วมหารือกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย มีข้อสรุปที่เป็นความเห็นร่วมกัน ดังนี้ สถานการณ์ในขณะนี้ การเจรจายังไม่ได้ข้อสรุปที่เป็นข้อยุติ การประเมินผลกระทบที่มีต่อภาวะการค้าการส่งออกและนำเข้าของไทย จนถึงขณะนี้ยังไม่มีผลกระทบทางตรง
เนื่องจากรัสเซียเป็นตลาดส่งออกที่มีสัดส่วนการตลาดแค่ 0.38% ของไทย และตลาดยูเครน 0.04% ถือว่าเป็นสัดส่วนที่ไม่มาก เมื่อเจาะรายสินค้าพบว่าถ้ามีผลกระทบทางตรง อาจจะกระทบต่อสินค้าประเภทยางรถยนต์ อาหารแปรรูป อัญมณีและเครื่องสำอาง ที่ส่งออกไปยังรัสเซียและยูเครน และในอนาคตอาจกระทบต้นทุนธุรกรรมทางการเงิน และต้นทุนการขนส่งสินค้าทางเรือ หากราคาน้ำมันยังสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงหากมีการปิดท่าเรือบางท่าในรัสเซียหรือยูเครน การส่งสินค้าของไทยอาจต้องเปลี่ยนท่าเรือ จะมีผลกระทบต่อต้นทุนการขนส่งได้
สำหรับผลกระทบทางอ้อม อาจมีเรื่องราคาพลังงานหรือราคาเหล็กนำเข้า ที่นำมาผลิตสินค้าต่อเนื่อง เช่น กระป๋องหรือก่อสร้าง เป็นต้น และผลกระทบต่อราคาธัญพืชที่นำเข้า เพื่อทำอาหารสัตว์ เช่น ข้าวสาลีและ ข้าวโพด เป็นต้น เพราะรัสเซีย-ยูเครน เป็นผู้ผลิตและส่งออกข้าวสาลีรายใหญ่ของโลก
นายจุรินทร์กล่าวว่า ที่ประชุมได้เตรียมมาตรการต่างๆ รองรับร่วมกันหากเกิดปัญหา โดยมีการเตรียมบุกตลาดทดแทน เช่น ตลาดตะวันออกกลาง ตลาดแอฟริกา ตลาดลาติน รวมทั้งเตรียมบุกตลาดทดแทนสินค้าของรัสเซียหรือยูเครน ที่ไม่สามารถส่งออกไปตลาดสำคัญในโลกได้ เพราะถือเป็นโอกาสเข้าไปทดแทนตลาดรัสเซียกับยูเครน เช่น มันสำปะหลัง อาจส่งไปจีนแทนข้าวโพดของยูเครน หรือผลิตภัณฑ์ยางในสหรัฐ อาหารสำเร็จรูปทดแทนตลาดรัสเซียยูเครน เป็นต้น
ส่วนตัวเลขการส่งออกเดือน ม.ค.65 ที่ตัวเลขทางการออกล่าช้า เพราะเป็นช่วงเวลาที่กรมศุลกากรปรับระบบพิกัดศุลกากรทุก 5 ปี รายละเอียดรายสินค้าจึงยังไม่ครบถ้วน โดยตัวเลขการส่งออกเดือน ม.ค.65 อยู่ที่ 8% มีมูลค่า 708,312 ล้านบาท ตลาดที่ขยายตัวสูง 5 ลำดับแรก ประกอบด้วย อินเดีย โต 31.9% รองลงมารัสเซีย 31.9% สหราชอาณาจักร 29.7% เกาหลีใต้ 26.8% และสหรัฐ 24.1%