นายสุริพงษ์ ตันติยานนท์ ผู้จัดการวีซ่า ประเทศไทย เปิดเผยว่า จากการศึกษาเรื่องทัศนคติการชำระเงินของผู้บริโภคประจำปีของวีซ่า พบว่าเกือบ 9 ใน 10 ของคนไทยเลือกใช้จ่ายในชีวิตประจำวันแบบไร้เงินสด โดยเกือบครึ่ง หรือ 43% ของผู้ที่พยายามใช้ชีวิตแบบไร้เงินสดสามารถอยู่ได้มากกว่าหนึ่งสัปดาห์โดยไม่ต้องพึ่งเงินสด โดยมี 79% ของกลุ่มที่ไม่เคยใช้จ่ายแบบไร้เงินสด บอกว่า รู้สึกมั่นใจที่จะใช้ชีวิตอยู่ได้ในช่วง 24 ชั่วโมงโดยไม่ต้องใช้เงินสด ซึ่งเพิ่มขึ้นมา 11% เมื่อเทียบกับผลการศึกษาในปีที่ผ่านมา

สุริพงษ์ ตันติยานนท์

นอกจากนี้มี 61% ของผู้บริโภคชาวไทยบอกว่าถือเงินสดน้อยลงในช่วงปีที่ผ่านมา โดยสาเหตุที่ทำให้ลดการใช้จ่ายด้วยเงินสด ได้แก่ การเลือกชำระแบบดิจิทัลมากขึ้น 77%, ความกังวลเรื่องการติดต่อของโรคระบาดผ่านการถือเงินสด 54% และพบว่าจำนวนร้านค้าที่รับชำระแบบดิจิทัลมีเพิ่มมากขึ้น 45% โดยหมวดร้านค้า 5 อันดับแรกที่ผู้บริโภคชาวไทยเห็นว่าจะดำเนินการแบบไร้เงินสดเต็มรูปแบบในอนาคตอันใกล้ ได้แก่ ร้านสะดวกซื้อ 67% ,ชำระค่าบริการจ่ายบิล 64%, ซูเปอร์มาร์เกต 62%, ระบบขนส่งสาธารณะ 56% และร้านขายอาหารและร้านอาหารแบบนั่งทานในร้าน 55%

ขณะเดียวกันยังพบอีกว่า เกือบ 9 ใน 10 ของผู้ตอบแบบสอบถาม 87% มีการรับรู้เกี่ยวกับบัตรคอนแทคเลส โดยในกลุ่มของผู้ที่ยังไม่เคยใช้งาน 86% เปอร์เซ็นต์ สนใจการชำระเงินรูปแบบนี้ โดยการชำระเงินแบบไร้สัมผัสหรือคอนแทคเลส ช่วยให้ผู้บริโภคใช้จ่ายได้ง่ายเพียงแตะบัตรชำระเงิน หรือสมาร์ทโฟนที่จุดรับชำระ และมีประสบการณ์ในการใช้จ่ายที่เหนือกว่าให้กับผู้ใช้ทั้งความรวดเร็ว ปลอดภัย และสะดวกสบาย

อย่างไรก็ตามระบบชำระเงินแบบคอนแทคเลสกำลังได้รับความนิยมในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นในการใช้ชำระค่าสินค้าและบริการที่ร้านค้าปลีกทางกายภาพและการเดินทาง ในปัจจุบันผู้โดยสารผ่านระบบขนส่งในกรุงเทพฯ สามารถใช้บัตรเครดิตแบบคอนแทคเลสชำระค่าบริการได้แล้วที่รถไฟฟ้าเอ็มอาร์ที สายสีน้ำเงินและสายสีม่วง รวมถึงรถประจำทาง เรือไฟฟ้า และทางพิเศษโทลล์เวย์

“เมื่อดูผลการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคครั้งก่อนหน้า เห็นว่าตัวแปรหนึ่งที่มีส่วนผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมผู้บริโภคชาวไทยให้พึ่งพาเงินสดน้อยลง และก่อให้เกิดทัศนคติที่ดียิ่งขึ้นต่อการใช้จ่ายเงินในรูปแบบดิจิทัลคือสถานการณ์โรคระบาด ซึ่งจากผลการศึกษาในปีนี้และการพูดคุยกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในหลากหลายอุตสาหกรรม เห็นชัดเจนขึ้นว่าการเปลี่ยนแปลงนี้เริ่มกลายเป็นพฤติกรรมที่ผู้บริโภคเลือกที่จะทำด้วยตนเอง มากกว่าที่จะถูกผลักดันจากปัจจัยภายนอก ซึ่งหมายความว่ากระบวนการเปลี่ยนผ่านนี้จะถาวรและยั่งยืนมากขึ้น”