นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการด้านยานพาหนะปลอดภัย ภายใต้คณะกรรมการศูนย์อำนวยความปลอดภัยทางถนนว่า ที่ประชุมได้ตระหนักถึงการกำหนดมาตรฐานของยานพาหนะในการยกระดับนำไปสู่การปฏิบัติ และการจัดทำแผนออกประกาศข้อกำหนดทางเทคนิคด้านความปลอดภัยสำหรับรถยนต์และรถจักรยานยนต์ อ้างอิงตาม UN Regulation ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ยอมรับในสากลโลก โดยที่ประชุมมีมติดังนี้ 1.ให้กำหนดแนวทางการดำเนินการติดตั้งระบบเบรกที่มีประสิทธิภาพไว้เป็น Roadmap เช่น ติดตั้งเบรกในรถยนต์ กำหนดให้รถยนต์และรถกระบะแบบใหม่ ที่ผลิตตั้งแต่ปี 67 ต้องติดตั้งระบบป้องกันล้อล็อก (Anti-lock Braking System) และระบบควบคุมเสถียรภาพ (Electronic Stability Control) มีระบบเสริมแรงเบรก (Brake Assist System) ตั้งแต่ปี 69 และพัฒนาไปสู่ระบบเสริมแรงเบรก (Braking Assistant System) เพื่อนำไปสู่ระบบเบรกอัตโนมัติในปี 71 เพื่อให้รถยนต์และรถกระบะมีสมรรถนะด้านการหลีกเลี่ยงการเกิดอุบัติเหตุสูงสุด
2.การกำหนดมาตรฐานตัวรถ กำหนดให้ภายในปี 68 ต้องมีความปลอดภัยของรถเป็นไปตามมาตรฐานการชนด้านหน้า และด้านข้าง (Frontal and Lateral Collision) ตามมาตรฐานสากล และนำมาตรฐานความปลอดภัยกรณีชนคนเดินเท้า (Pedestrian Safety) ที่ต้องมีตัวถังที่ออกแบบซึ่งจะช่วยลดความรุนแรงจากการชน 3.สำหรับกรณีของรถจักรยานยนต์ ให้เร่งยกระดับมาตรฐานความปลอดภัย เช่น กำหนดให้ระบบห้ามล้อของรถจักรยานยนต์ใหม่ทุกขนาด ต้องติดตั้งระบบป้องกันล้อล็อก (Anti-lock Braking System) เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน พร้อมกำหนดมาตรฐานการติดตั้งโคมไฟส่องสว่าง และแสงสัญญาณ (UN R53 Installation of Lighting and Light-Signaling) ตั้งแต่ปี 67
4.สำหรับการพัฒนาความปลอดภัยจากการเกิดอุบัติเหตุกับรถบรรทุกขนาดใหญ่ ที่ประชุมได้พิจารณากำหนดมาตรฐานความปลอดภัยในการออกมาตรฐานอุปกรณ์ป้องกันด้านข้างและด้านท้าย (Lateral and Rear-Underrun Protection) เพื่อลดความรุนแรงจากการชนด้านข้างหรือด้านท้ายของรถบรรทุก ออกมาตรฐานการติดตั้งอุปกรณ์มองภาพ (Indirection Vision) ในรถบรรทุกขนาดใหญ่ เพื่อลดความเสี่ยงจากการไม่เห็น และ 5.เพื่อเป็นการศึกษากำหนดมาตรการในการติดตั้งอุปกรณ์ความปลอดภัยอื่น ๆ ที่จำเป็น ที่ประชุมมอบหมายให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ศึกษาเทคโนโลยีความปลอดภัยอื่น ๆ ที่กำลังพัฒนา เช่น Intelligent Speed Assistance ซึ่งจะช่วยเตือนเวลารถขับเกินความเร็วที่กฎหมายกำหนด หรือระบบ Forward Collision Warning System ที่จะช่วยเตือนการชนในกรณีที่รถมีสิ่งกีดขวางด้านหน้า เป็นต้น
นายสรพงศ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมอบหมายให้ ขบ. เปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคอุตสาหกรรม และภาคประชาชน รวมทั้งผู้มีส่วนได้เสียในวงกว้าง เพื่อให้รับทราบถึงปัญหาอุปสรรค หรือแนวทางการดำเนินงานที่เหมาะสม เพื่อขับเคลื่อนการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของยานยนต์ให้เทียบเท่ากับสากลโดยเร็ว และเกิดความปลอดภัยแก่ผู้ใช้รถใช้ถนนในภาพรวมอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม ก่อนการออกประกาศกำหนดมาตรฐานรถที่จดทะเบียนในประเทศไทยตามมาตรฐานที่กำหนดการติดตั้งอุปกรณ์ความปลอดภัยดังกล่าวข้างต้น กระทรวงคมนาคม มอบหมายให้ ขบ. เปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ เพื่อให้ประชาชน นักวิชาการ องค์กรภาคราชการ เอกชน และผู้ผลิตรถหรือยานพาหนะต่าง ๆ ได้แสดงความคิดเห็นก่อนดำเนินการสรุปแนวทางการดำเนินการทางกฎหมายต่อไป.