นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยว่า การพัฒนาแพลตฟอร์มภาครัฐเพื่อรองรับการปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ จีพีพีซี ซึ่งคณะทำงานได้มีการประชุมแล้ว 3 ครั้ง  คาดว่าจะได้ร่างขอบเขตงาน หรือ ทีโออาร์ ออกมา จากนั้นจะเชิญชวนให้บริษัทเอกชนที่มีองค์ความรู้มายื่นข้อเสนอ ซึ่งตามแผนแล้ว แพลตฟอร์มดังกล่าวจะต้องแล้วเสร็จใน 180 วันหลังเซ็นสัญญา โดยคาดว่าจะอยู่ในงบประมาณจำนวน 200 ล้านบาท จากกองทุนดีอี ตามกรอบที่ ครม. เห็นชอบ แต่ทั้งนี้ คาดว่าจะเสร็จไม่ทันตามกำหนดที่พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หรือที่เรียกว่า กฎหมายพีดีพีเอ จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มิ.ย.นี้

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ก็ได้มีการดำเนินการเตรียมพร้อมในเรื่องนโบบาย และจัดการรองรับกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอยู่แล้ว เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายที่กำหนดหากมีการบังคับใช้แล้ว เพราะฉะนั้น ตัวแพลตฟอร์มกลางที่พัฒนาขึ้นจะไปช่วยให้ภาครัฐจัดทำรายงานที่เป็นมาตรฐานมากยิ่งขึ้น สำหรับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

นายภุชพงค์ กล่าวต่อว่า สำหรับในเบื้องต้น คาดว่าจะมีหน่วยงานรัฐและกรมต่าง ๆ จะเข้ามาใช้งาน 200 หน่วยงาน รวมถึงมีการจัดฝึกอบรมด้วยจำนวน 2,000 คน และเปิดให้เอกชนที่สนใจร่วมอบรมได้ ซึ่งถือว่าคุ้มค่ากับงบประมาณ โดยภายในสิ้นปีนี้ คาดว่าจะมี 3 หน่วยงานเริ่มใช้ก่อน คือ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.), สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) และสำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

ทั้งนี้ แพลตฟอร์มกลางจะประกอบด้วย 4 ระบบงานหลัก ได้แก่ ระบบบริหารจัดการความยินยอม (มาตรา 19), ระบบบันทึกรายการกิจกรรมการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล (มาตรา 39), ระบบจัดการแจ้งเหตุละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล (มาตรา 37) และระบบจัดการคำขอใช้สิทธิของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล (มาตรา 30-36) ซึ่งจะช่วยลดความซ้ำซ้อนด้านงบประมาณ และเป็นมาตรฐานเดียวกัน