เมื่อวันที่ 22 ก.ค. ผศ.ดร.ชิตชล ผลารักษ์ หัวหน้าภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และทีมงาน ได้ทำการศึกษาและค้นพบแมลงชีปะขาวชนิดใหม่ของโลก โดยพบบริเวณส่วนท้ายของแม่น้ำปิง อ.เมือง จ.นครสวรรค์ และได้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ว่า “Ephoron ookaewae” โดยคำแสดงคุณลักษณะ (specific epithet) “ookaewae” นั้นได้ตั้งเพื่อเป็นเกียรติแด่ รองศาสตราจารย์ ดร.อู่แก้ว ประกอบไวทยกิจ อาจารย์รุ่นแรกของภาคชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาด้านระบบนิเวศแหล่งน้ำ รวมถึงแมลงน้ำ ให้อาจารย์ชิตชลนั่นเอง
แมลงชีปะขาว Ephoron ookaewae จัดอยู่ในสกุล Ephoron ทั่วโลกพบทั้งหมด 14 ชนิด และประเทศไทยมีรายงานการพบแมลงชีปะขาวในสกุลนี้เพียง 1 ชนิดเท่านั้นนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 ซึ่งการค้นพบในครั้งนี้ ถือเป็นการพบแมลงในสกุลนี้เป็นครั้งที่สองของประเทศไทยหลังจากที่ผ่านมาแล้วกว่า 60 ปี
โดยแมลงชีปะขาวชนิดใหม่ของโลก ที่พึ่งค้นพบนี้มีลักษณะเด่นที่แตกต่างจากชนิดอื่น คือ ตัวอ่อนมีเขี้ยวยาวคล้ายงาซึ่งมีหนามขนาดเล็ก 5 ถึง 7 แท่ง ตัวอ่อนจะใช้เขี้ยวนี้ในการขุดโพรงอาศัยอยู่บริเวณพื้นท้องน้ำที่เป็นดินแน่นปนกรวดในจุดที่น้ำไหลค่อนข้างเร็ว โดยกินตะกอนอินทรีย์ขนาดเล็กเป็นอาหาร เมื่อโตขึ้นจะพัฒนาเป็นตัวเต็มวัยพร้อมกันเป็นกลุ่มเพื่อสืบพันธุ์ ตัวเต็มวัยจะมีอายุประมาณ 1 ถึง 2 วัน
แมลงชีปะขาวนั้นเป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถบ่งชี้คุณภาพของแหล่งน้ำในช่วงปานกลางถึงดีมากได้ การค้นพบแมลงชีปะขาวชนิดใหม่ของโลกนี้ในช่วงท้ายของแม่น้ำปิงในจังหวัดนครสวรรค์ถือเป็นการค้นพบที่ค่อนข้างเหนือความคาดหมายของนักวิจัย เนื่องจากเป็นการสำรวจในแหล่งน้ำเขตเมืองที่ผ่านเขตชุมชนแต่ก็ยังมีการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ แสดงถึงความหลากหลายทางชีวภาพ และยังเป็นสิ่งยืนยันถึงความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ท้ายน้ำ ซึ่งควรได้รับการอนุรักษ์และฟื้นฟูเพื่อให้คงความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทยต่อไป.