เมื่อวันที่ 22 ก.ค. น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 22 ก.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เห็นชอบในหลักการแนวทางลดค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของนักเรียนและนักศึกษา ในปีการศึกษา 2564 ตามที่ รมว.ศึกษาธิการ และรมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ ซึ่งทางกระทรวงศึกษาฯ ได้จัดทำมาตรการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการเรียนรู้เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ของนักเรียน ครู และผู้ปกครองในสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งจะครอบคลุมทั้งโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) โรงเรียนสังกัด กทม.และโรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ขณะที่ทางกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ได้เตรียมมาตรการซึ่งครอบคลุมสถาบันอุดมศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน โดยสถาบันอุดมศึกษาภาครัฐ จะมีการลดค่าเล่าเรียน และค่าธรรมเนียมการศึกษา โดยกำหนดเป็น 3 ขั้น ได้แก่ ขั้นที่ 1 ส่วนที่ไม่เกิน 50,000 บาท ลดค่าเล่าเรียน ค่าธรรมเนียมการศึกษา ร้อยละ 50 ขั้นที่ 2 ตั้งแต่ 50,001-100,000 บาท ลดร้อยละ 30 และขั้นที่ 3 ตั้งแต่ 100,001 บาทขึ้นไป ลดร้อยละ 10 โดยรัฐบาลจะสนับสนุนงบประมาณสำหรับส่วนลดนี้ ร้อยละ 60 และสถาบันอุดมศึกษาสมทบ ร้อยละ 40

น.ส.รัชดา กล่าวต่อว่า ในส่วนของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน รัฐบาลจะสนับสนุนลดค่าเล่าเรียน ค่าธรรมเนียมการศึกษา คนละ 5,000 บาท และให้ทางสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแต่ละแห่งพิจารณาลดค่าเล่าเรียนเพิ่มเติม และสนับสนุนมาตรการอื่นๆ เช่น ขยายเวลาผ่อนชำระ หรือผ่อนจ่ายค่าธรรมเนียมการศึกษา ตั้งกองทุนสนับสนุนการศึกษา จัดหาอุปกรณ์ โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับนักศึกษายืมเพื่อใช้ในศึกษาออนไลน์ ส่วนลดค่าหอพักนักศึกษา จัดสวัสดิการพิเศษกรณีนักศึกษาป่วยด้วยโรคโควิด-19 เป็นต้น

“การช่วยเหลือค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของบุตรหลานจะช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองได้อย่างมาก ซึ่งเป็นอีกมาตรการเร่งด่วนที่นายกรัฐมนตรีเร่งรัดให้เกิดผลในทางปฏิบัติ ทั้งนี้ มาตรการที่นายกฯ ได้เห็นชอบในหลักการครั้งนี้ จะนำเข้าให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในวันที่ 27 ก.ค.ต่อไป” น.ส.รัชดา กล่าว.