นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (เครือซีพี) เปิดเผยในงานสัมมนาหัวข้อกลยุทธ์ขับเคลื่อนองค์กรปี 65 ฝ่าวิกฤติ สู่โอกาสใหม่ที่ยั่งยืน ว่า ปัจจุบันความท้าทายของโลก คือเรื่องลดความเหลื่อมล้ำ, การเปลี่ยนแปลงดิจิทัล และการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม ความยั่งยืน ในส่วนประเทศไทยควรเร่งปรับตัวใน 3 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ปฏิรูปการเกษตรและส่งเสริมเอสเอ็มอี เช่น การบริหารน้ำ, สร้างวิสาหกิจชุมชน, สมาร์ท ฟาร์มเมอร์ และเอสเอ็มอีรุ่งใหม่ขยายสินค้าออกไปยังภูมิภาค เป็นต้น

นอกจากนี้ควรเร่งปรับตัวให้ไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ การค้าแห่งเอเชีย ศูนย์กลางเทคโนโลยี เช่น อีอีซี, เอสอีซี 4.0, ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด, สมาร์ทซิตี้ และรถยนต์พลังงานไฟฟ้าหรืออีวี เป็นต้น และไทยยังควรเร่งดึงดูดคนเก่งเข้ามาในไทย เช่น ส่งเสริมสตาร์ทอัพ ต่อยอดเป็นเทคฮับ, ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลและการวิจัย และการปรับหรือเพิ่มทักษะคนรุ่นใหม่ ธุรกิจใหม่ โดยมองว่าธุรกิจอีวี จะกลายเป็นศูนย์กลางและต่อยอดธุรกิจอื่นได้ เช่น อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ที่เกี่ยวข้อง พลังงานหมุนเวียน แบตเตอรี่และอื่นๆ

ขณะเดียวกันหากประเทศไทยสามารถส่งเสริมสตาร์ทอัพ และดึงดูดเทคสตาร์ทอัพได้ ตัวอย่างเช่นหากสร้างเทคสตาร์ทอัพ 10,000 แห่ง จะมี 40 คนต่อบริษัท ทำให้เกิดคนเทคสตาร์ทอัพถึง 4 แสนคน และจะเงินทุนไหลเข้ามาประเทศอีกมาก อาจเกิดมูลค่ารวมถึง 2 แสนล้านดอลลาร์ที่จะเข้ามาเสริมสร้างเทคสตาร์ทอัพ เป็นต้น ซึ่งจะส่งผลดีทั้งเศรษฐกิจและเกิดบุคลากรเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น

นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (อีเอ) กล่าวว่า อีเอมองวิกฤติให้กลายเป็นโอกาส ด้วยการเข้าถึงธุรกิจใหม่ โดยเฉพาะด้านพลังงานสะอาด สอดคล้องประเทศไทยเน้นการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี หรือการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว โดยส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น ซึ่งอีเอได้มองการเติบโตของธุรกิจจากธุรกิจไบโอดีเซล ไปสู่โซลาร์ฟาร์ม และโรงไฟฟ้าพลังงานลม การก่อสร้างโรงงานแบตเตอรี่ รวมทั้งการลงทุนทรานสปอร์ต เพื่อให้บริการเรือโดยสารไฟฟ้า รถบัสไฟฟ้า และสถานีชาร์จอีวี

ขณะเดียวกันมีแผนพัฒนาจากธุรกิจไบโอดีเซล สู่การเป็นกรีนปิโตรเลียมเพราะจะเป็นตัวเปลี่ยนเทคโนโลยีของโลก ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพพืชพลังงาน ดังนั้นยุทธศาสตร์ของอีเอจะดำเนินโครงการกรีนปิโตรเลียม เพื่อรองรับอีวีที่อาจส่งผลกระทบต่อเกษตรกร ดังนั้นจำเป็นต้องมีตลาดใหม่รองรับ