นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย และประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า สมาคมธนาคารไทยและธนาคารพาณิชย์ ได้เร่งแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน โดยสนับสนุนทำศูนย์กลางข้อมูลเครดิตให้สมบูรณ์ เพื่อรวบรวมข้อมูลเครดิตจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งธนาคาร, นอนแบงก์ โดยเฉพาะสหกรณ์ออมทรัพย์ที่มียอดหนี้ครัวเรือนมากถึงกว่า 2 ล้านล้านบาท หรือ 15% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด เพื่อสามารถแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนได้อย่างเบ็ดเสร็จ
ควบคู่กับการเดินหน้าให้ความรู้ทางการเงินและความรู้ทางดิจิทัล รวมถึงสร้างกลไกในการเพิ่มวินัยทางการเงินและส่งเสริมการออมเงิน โดยเฉพาะการออมเผื่อเกษียณ เพื่อช่วยให้ภาคครัวเรือนหรือกลุ่มเปราะบางอยู่รอดและปรับตัวสู่โลกใหม่ได้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้สมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิก ร่วมวางแผนระยะ 3 ปี หรือโร้ดแมพ ภายใต้ 4 ด้าน คือ การยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ , การเป็นผู้นำการให้บริการทางการเงินในภูมิภาคซีแอลเอ็มวี และเออีซีบวกสาม, การให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน และการให้ความสำคัญด้านทรัพยากรมนุษย์ โดยสิ่งสำคัญคือเรื่องการแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน หลังจากโควิด-19 ซ้ำเติมให้ระดับหนี้ครัวเรือนสูง 90% ต่อจีดีพี ซึ่งยังไม่ได้รวมถึงหนี้นอกระบบที่ในระยะหลัง มีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นด้วย
ด้านข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าภาวะการเป็นหนี้ของครัวเรือนไทย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยจำนวนครัวเรือนที่เป็นหนี้เพิ่มขึ้นจาก 46.3% ในปี 62 เป็น 52.7% ในปี 64 ขณะที่จำนวนหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้น 1.5 เท่า เมื่อเทียบกับ 10 ปีที่ผ่านมา โดยสมาคมธนาคารไทยจึงให้ความสำคัญกับการช่วยแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ยกระดับมาตรการทั้งก่อนและหลังเป็นหนี้
นอกจากนี้ยังเน้นเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำและส่งเสริมให้ประชาชนและภาคธุรกิจสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินได้มากขึ้น โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า มีถึง 60% ไม่มีสินเชื่อกับธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เนื่องจากไม่มีข้อมูลในระบบหรือมีประวัติทางการเงินไม่มากพอ จึงเข้าถึงสินเชื่อได้ยาก ต้องหาหลักประกันหรือการค้ำประกันเพิ่มเติม หรือต้องหาแหล่งเงินทุนรูปแบบอื่น โดยสมาคมธนาคารไทยจะส่งเสริมการใช้ข้อมูลทางเลือกในการพิจารณาสินเชื่อ รวมถึงการปล่อยสินเชื่อผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย
ขณะเดียวกันยังต้องเร่งเตรียมบุคลากรรองรับการเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล เดินหน้าพัฒนาและปรับทักษะพนักงานธนาคารพาณิชย์มีอยู่กว่า 1.3 แสนราย ให้มีความรู้ด้านดิจิทัลมากขึ้น เพื่อให้บุคลากรในอุตสาหกรรมการเงิน มีสมรรถนะที่สามารถตอบโจทย์โลกการเงินที่เปลี่ยนไป สอดรับรูปแบบธุรกิจธนาคารสู่ดิจิทัลแบงกิ้งเต็มรูปแบบ