วันนี้ (23 ก.พ.) พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กสทช. (บอร์ด กสทช.) ได้รับทราบผลการประมูล คลื่นความถี่ในระบบเอฟเอ็ม สำหรับการให้บริการกระจายเสียง ประเภทกิจการบริการ ทางธุรกิจ เมื่อวันที่ 21 ก.พ. จำนวน 71  คลื่นความถี่ ได้เงินประมูลรวม 700 ล้านบาท (ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เพิ่มขึ้นจากราคาเริ่มต้นการประมูล 398 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 77% โดยมีผู้ชนะ 9 ราย  ซึ่ง บริษัท อสมท  (มหาชน) เป็นผู้ชนะการประมูลมากที่สุด 47 คลื่นความถี่ จากที่ยื่นประมูล 55 คลื่นความถี่

ส่วนบริษัท ลูกทุ่งเน็ตเวิร์ค 24 ชั่วโมง จำกัด จำนวน 13 คลื่นความถี่, บริษัท เจ.เอสไนน์ตี้วัน จำกัด จำนวน 3 คลื่นความถี่, บริษัท ดินดิน จำกัด จำนวน 2 คลื่นความถี่, บริษัท นานา เอนเทอร์เทนเมนต์ จำกัด จำนวน 2 คลื่นความถี่, บริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด (มหาชน) จำนวน 1 คลื่นความถี่, ห้างหุ้นส่วนจำกัด สุภัคพร กรุ๊ป จำนวน 1 คลื่นความถี่, ห้างหุ้นส่วนจำกัด พีระยา มีเดียกรุ๊ป จำนวน 1 คลื่นความถี่ และบริษัท สตูดิโอ ไลน์ เอเจนซี่ จำกัด จำนวน 1 คลื่นความถี่ 

“คณะกรรมการ หรือบอร์ด ได้มีมติรับทราบราคาการประมูลแล้ว แต่ยังไม่สามารถประกาศรายชื่อได้ ต้องรอผู้เข้าประมูลมายืนยันรับรองราคา และจะต้องมีการนัดประชุมบอร์ดวาระพิเศษเพื่อลงมติอีกครั้งหนึ่ง สำหรับเงินประมูลที่ได้ กสทช. จะหักค่าใช้จ่ายในการประมูลส่วนหนึ่ง จากนั้นจะนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กองทุนดีอี) และนำส่งเข้าเป็นรายได้ของแผ่นดินต่อไป” 

พ.อ.นที กล่าวต่อว่า ขั้นตอนหลังจากนี้ สำนักงาน กสทช. จะแจ้งให้ผู้เสนอราคาสูงสุดในแต่ละคลื่นความถี่ มาลงนามรับรองราคาสุดท้ายที่ตนเสนอให้ครบถ้วน ภายใน 7 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากสำนักงาน กสทช. เพื่อที่ กสทช. ประกาศรายชื่อผู้ชนะการประมูล และแจ้งให้ผู้ชนะการประมูลชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เท่ากับราคาที่ชนะการประมูลรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ภายใน 30 วัน  และหากได้รับใบอนุญาตแล้ว สามารถประกอบกิจการกระจายเสียงได้ตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย. 65 ระยะเวลา 7 ปี  ในกรณีหากไม่ชำระให้ครบถ้วนตามเวลาที่กำหนด จะถูกริบหลักประกันและห้ามเข้าร่วมการประมูล 2 ปี พร้อมทั้งชดใช้ค่าเสียหายในกรณีที่ต้องจัดประมูลใหม่.