นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดเผยถึงการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.  ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เป็นประธานว่า กบอ.ได้รับทราบความก้าวหน้าในการแก้ปัญหาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา) ซึ่งมีบริษัท เอเชีย อารา วัน เป็นเอกชนคู่สัญญา โดยขณะนี้คณะกรรมการกำกับดูแลสัญญาฯ ได้ร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และเอกชนคู่สัญญากำลังดำเนินการที่จะนำไปสู่การแก้ไขสัญญา โดยไม่เป็นภาระทางการเงินของภาครัฐ 

ทั้งนี้ยังไม่มีข้อสรุปกลับมายังสกพอ. โดยเร่งรัดดำเนินการเจรจาในข้อเสนอเพิ่มเติมของเอกชนคู่สัญญาให้ได้ข้อยุติโดยเร็วคาดไม่เกิน 1 เดือนจากนี้ ซึ่งภาครัฐไม่เสียประโยชน์ และเป็นธรรมต่อภาคเอกชน และเงินที่ภาคเอกชนจ่ายล่าช้าจะถูกคิดดอกเบี้ยด้วย

ส่วนการบรรเทาผลกระทบโควิด-19 ให้กับเอกชน ซึ่งแม้ขณะนี้จำนวนผู้โดยสารจะเริ่มกลับมาแต่ยังห่างจากการประมาณการตามการศึกษาที่ 80,000 คนต่อวัน ซึ่งการแก้ไขสัญญาจะให้ความสำคัญกับการปรับระยะเวลาค่าสิทธิเป็นสำคัญ ด้านการส่งมอบพื้นที่ ช่วงสุวรรณภูมิถึงอู่ตะเภา ปัจจุบัน รฟท. ได้ส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนคู่สัญญาแล้ว 3,493 ไร่ หรือได้เกือบครบทั้งหมด 100% แล้ว เหลือพื้นที่ส่งมอบเพียง 20 ไร่ หรือประมาณ 0.57% ที่เจ้าของพื้นที่เดิมยังหาที่อยู่ใหม่ไม่ได้ ซึ่งจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือน พ.ค.นี้

นอกจากนี้เห็นชอบการจัดสิทธิประโยชน์ 10 ปีแรกให้กับโครงการเมืองการบินภาคตะวันออกเพื่อให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone: SEZ) เทียบเท่าสิงคโปร์ ดูไบ และฮ่องกง ประกอบด้วย พิพิธภัณฑ์ ศูนย์แสดงศิลปะ ร้านอาหารที่ได้มิชลินสตาร์ 10 แห่ง ดิวตี้ ฟรี ศูนย์ประชุม และที่อยู่อาศัย ซึ่งจะมีการสนับสนุนการเป็นเมืองท่องเที่ยวและธุรกิจ 24 ชั่วโมง เป็นเขตปลอดอากรและสรรพสามิต รวมทั้งภาษีสรรพากรในบางกรณี รวมทั้งจะมีการสนับสนุนด้านการออกวีซ่าและใบอนุญาตการทำงานในลักษณะ 5+5 ปี สำหรับผู้ทำงานและนักลงทุนต่างชาติที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออก

ขณะเดียวกันได้เห็นชอบการจัดตั้งบริษัท อีอีซี พัฒนาสินทรัพย์สนามบิน จำกัด โดย อีอีซีจะถือหุ้น 100% ให้เป็นหน่วยงานพัฒนาศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) ร่วมกับเอกชน โดยการทำงานจะมีการประสานงานใกล้ชิดกับบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) ที่พัฒนาสนามบิน ให้เป็นเมืองการบินภาคตะวันออกโดยสมบูรณ์