นายเกษมศานต์ โชติชาครพันธุ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บมจ.อสมท ผู้นำธุรกิจวิทยุที่ได้ดำเนินธุรกิจวิทยุกระจายเสียงระบบเอฟเอ็ม มาอย่างยาวนานโดยตลอด ได้ยื่นประมูลคลื่นความถี่วิทยุระบบเอฟเอ็มมากที่สุด รวมทั้งสิ้น 55 คลื่น แบ่งเป็นคลื่นความถี่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล จำนวน 6 คลื่น และพื้นที่ภูมิภาค จำนวน 49 คลื่น โดยการยื่นประมูลแต่ละคลื่นความถี่พิจารณาจากหลายปัจจัยด้วยกัน อาทิ ความสามารถในการสร้างผลกำไร ความแข็งแกร่งของเครือข่ายในการครอบคลุมพื้นที่ (Network Coverage Area) และความรับผิดชอบในบทบาทภารกิจทางสังคมของ บมจ. อสมท ที่มุ่งสร้างเสริมการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง

ซึ่งผลการประมูลรอบแรก เฉพาะในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล นั้น อสทม.เป็นผู้เสนอราคาสูงสุด ทั้ง 6 คลื่น ประกอบด้วย คลื่น 95 ราคา 50.59 ล้านบาท  คลื่น 96.5 ราคา 50.44 ล้านบาท คลื่น 99 ราคา 50.14 ล้านบาท คลื่น 100.5 ราคา 50.12 ล้านบาท คลื่น 107  ราคา 48.79 ล้านบาท และ คลื่น 100.5 ราคา 36.78 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 286.89 ล้านบาท

สำหรับแนวทางในการบริหารคลื่นความถี่วิทยุของ บมจ.อสมท จะเร่งสร้างการรับรู้ให้แก่ผู้ฟังและผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม เพื่อตอกย้ำถึงจุดแข็งของธุรกิจวิทยุที่มีเครือข่ายครอบคลุมทั่วประเทศ ตลอดจนมีความพร้อมด้านบุคลากร และด้านสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น สตูดิโอ สถานีออกอากาศ เครื่องส่ง เป็นต้น บมจ.อสมท พร้อมสนับสนุนการให้บริการกับพันธมิตรทางธุรกิจและการให้บริการสังคม

อย่างไรก็ถามสำหรับคลื่นวิทยุที่ บมจ.อสมท ไม่ได้เข้าประมูลในครั้งนี้ ไม่ได้มีผลกระทบ ต่อการดำเนินธุรกิจของ บมจ.อสมท อย่างมีนัยสำคัญ บมจ.อสมท ยังคงมีศักยภาพในการออกอากาศครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศที่ไม่แตกต่างจากเดิม โดยสามารถใช้การออกอากาศกระจายเสียงจากสถานีข้างเคียง ควบคู่ไปกับรูปแบบดิจิทัลแพลตฟอร์ม รวมถึงการแสวงหาเครือข่ายและพันธมิตร ซึ่งต่อจากนี้จะมีการปรับโครงสร้างและรูปแบบการบริหารจัดการ การจัดผังรายการให้ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย

และการจัดสรรช่วงเวลาออกอากาศระหว่างสถานีวิทยุแต่ละแห่งกับการออกอากาศของเครือข่ายคลื่นส่วนกลาง และการผลักดันคู่ขนานระหว่างการออกอากาศในรูปแบบเดิมกับรูปแบบดิจิตอลแพลตฟอร์ม รวมถึงการจัดกิจกรรมเฉพาะกลุ่มผู้ฟังและแฟนคลับ โดยการดำเนินการเหล่านี้ จะให้ความสำคัญกับความสามารถในการเพิ่มรายได้ การควบคุมค่าใช้จ่าย และความรับผิดชอบต่อสังคมในบทบาทของการเป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจ