เมื่อวันที่ 21 ก.พ. นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยถึงกรณีสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) คัดค้านร่าง พ.ร.บ.ขนส่งทางราง พ.ศ. …. และแสดงความเห็นคัดค้านว่า ขร. ตั้งขึ้น เพื่อเป็นหน่วยงานกำกับดูแลการประกอบกิจการขนส่งทางราง ให้สามารถยกระดับมาตรฐานการขนส่งทางราง การบริหารจัดการการขนส่งทางรางอย่างเป็นระบบ สอดคล้องกับการพัฒนาการขนส่งรูปแบบอื่นๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวก รวดเร็ว ประหยัด และปลอดภัยในการเดินทาง ไม่ได้มีเจตนาเพื่อเข้าไปดำเนินกิจการขนส่งทางรางแต่อย่างใด
นายพิเชฐ กล่าวต่อว่า ขร. ยินดีช่วยสนับสนุนส่งเสริมให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ประกอบกิจการขนส่งทางรางให้บริการประชาชน ตามมาตรฐานความปลอดภัย และมาตรฐานการให้บริการ ตามที่คณะกรรมการนโยบายขนส่งทางรางจะได้กำหนดต่อไปเมื่อ พ.ร.บ.การขนส่งทางรางประกาศใช้บังคับแล้ว และตามบทเฉพาะกาล บรรดาอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ที่ รฟท. และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มีอยู่ตามกฎหมายว่าด้วย รฟท. หรือกฎหมายว่าด้วย รฟม. ให้ยังคงมีอยู่ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับ พ.ร.บ.ฉบับนี้
นายพิเชฐ กล่าวอีกว่า สำหรับมาตรา 9 ที่ สร.รฟท. ระบุว่า ทำให้ ขร. มีอำนาจและสิทธิในการบริหารอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเกินขอบเขตการกำกับดูแลนั้น ขอชี้แจงว่า ตามร่างมาตราดังกล่าว เป็นการกำหนดให้มีหน้าที่ และอำนาจในการเสนอแนะแนวทางเชิงนโยบาย และส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบอีกครั้ง จากนั้นจึงกำหนดเป็นนโยบายให้หน่วยงานที่ประกอบกิจการขนส่งทางรางที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ขร.ปฏิบัติตามนโยบายต่อไป โดย ขร. ไม่ได้ดำเนินการเองแต่อย่างใด เพียงแต่จะกำกับดูแลให้หน่วยงานในภายใต้กำกับดูแลปฏิบัติตามนโยบายที่ ครม. ให้ความเห็นชอบแล้ว
นายพิเชฐ กล่าวต่อว่า ส่วนประเด็นมาตรา 25 ที่ สร.รฟท. ระบุว่าให้อำนาจ ขร. เวนคืนที่ดิน ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของ ขร. นั้น ขอชี้แจงว่า หากเป็นโครงการที่มอบหมายให้หน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของ ขร. ที่เป็นหน่วยงานของรัฐ เช่น รฟม., รฟท. และ กทม. มีกฎหมายให้อำนาจหน้าที่ทั้ง 3 หน่วยงานในการเวนคืนหรือจัดหาที่ดินให้ได้มาเพื่อดำเนินการจัดทำโครงการได้อยู่แล้ว ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ได้ขัดหรือแย้งกับกฎหมาย และอำนาจหน้าที่ของทั้งสามหน่วยงานแต่อย่างใด สำหรับเจตนารมณ์ที่ร่างมาตรา 26 นั้น ไว้เฉพาะกรณีโครงการที่ ครม.เห็นชอบให้ ขร.ดำเนินการร่วมกับเอกชน เพราะเอกชนไม่สามารถใช้อำนาจรัฐในการเวนคืนหรือได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ในการดำเนินโครงการ
นายพิเชฐ กล่าวด้วยว่า ขร. ในฐานะหน่วยงานที่กำหนดนโยบายและแผนงานโครงการที่จะดำเนินโครงการขนส่งทางราง ควรมีหน้าที่และอำนาจในการเวนคืนหรือให้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ เพื่อให้การดำเนินโครงการของเอกชนที่เข้ามาดำเนินโครงการตามนโยบายขนส่งทางรางสำเร็จลุล่วงไป เช่นเดียวกับกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ที่เป็นหน่วยงานกำกับดูแลการขนส่งทางบกก็มีอำนาจเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ เพื่อนำมาดำเนินการตามภารกิจของหน่วยงานให้สำเร็จลุล่วง โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 37 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนและการได้มา ซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ 2562 เพื่อสนับสนุนการประกอบกิจการขนส่งทางรางเท่าที่จำเป็น และกระทบกับสิทธิของประชาชนน้อยที่สุด
วันเดียวกัน สร.รฟท. ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง คัดค้านร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. …. เนื่องด้วยเนื้อหาในร่างกฎหมายขัดต่อหลักการและเหตุผล ไม่ได้ทำหน้าที่แค่การกำกับดูแล ซึ่ง สร.รฟท. ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาวิเคราะห์ ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้โดยละเอียดแล้ว พบว่า มีบทบัญญัติหลายมาตราซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง อำนาจหน้าที่ของ ขร. ในบางเรื่องไม่สอดคล้องกับการที่มีฐานะเป็นหน่วยงานกำกับดูแล (Regulator) โดยเฉพาะการดำเนินการตามกฎหมายด้วยการจัดหาหรือได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ ส่งผลให้ ขร.กลายเป็นหน่วยงานปฏิบัติการ (Operator) เสียเอง ดังนั้น สร.รฟท. ขอประกาศเจตนารมณ์และยืนยันจุดยืนที่จะยืนหยัดคัดค้าน และหยุดยั้งร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. …. ตามมาตรการต่าง ๆ จนถึงที่สุด เพื่อปกป้องระบบการขนส่งทางรางของรัฐให้มีความมั่นคง และยั่งยืน เป็นระบบการขนส่งหลักของประเทศ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติ และประชาชนต่อไป.