วันที่ 21 ก.พ. นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ครั้งที่ 1/2565 ร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวมอบนโยบายว่า ปี 2565 เป็นปีที่รัฐบาลแก้ไขปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้าและแก้ปัญหาหนี้ต่าง ๆ ทั้งระบบ โดยในการทำงานแก้ไขปัญหาดังกล่าวจะต้องอาศัยความตั้งใจจริง และความทุ่มเทในการทำงานของทุกคน เชื่อมั่นว่าทุกคนทำได้เพื่อประเทศ ซึ่งจะต้องทำงานแบบไม่หว่านแหทั่วไป

ทั้งนี้ ในหลายพื้นที่ คนมีความพร้อมอยู่แล้วแต่อาจเข้าไม่ถึงโอกาส จึงต้องพิจารณาจัดกลุ่มเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่มีความพร้อมอยู่แล้ว สามารถขยายให้โตขึ้นได้ 2.กลุ่มที่มีความพร้อมปานกลาง ให้เสริมเติมเต็มความเข้มแข็งเพิ่มขึ้น 3.กลุ่มที่ต้องให้อยู่รอดให้ได้ ไม่ให้ล้ม โดยต้องทำแผนงาน จัดงบประมาณลงไปตามศักยภาพของพื้นที่ ให้เป็นการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากทุกอำเภอ ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดประเมินผลการทำงานของข้าราชการ ขณะที่ตัวชี้วัดรายกระทรวง รายหน่วยงาน จะต้องเป็นตัวชี้วัดที่สามารถสะท้อนการดำเนินงานของหน่วยงานในลักษณะเชิงบูรณาการ ซึ่งจะนำมาเป็นข้อพิจารณาในการจัดสรรงบประมาณของหน่วยงานต่อไปด้วย

นายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำถึงการทำงานตามแผนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ตามห้วงเวลาที่กำหนดในแต่ละปี ว่าขึ้นกับตัวชี้วัด การประเมินผล และความตั้งใจจริงในการแก้ไขปัญหา นายกฯ ไม่มีอะไรกับใครทั้งสิ้น ทำงานเพื่อให้ประเทศไทยเดินไปข้างหน้า สิ่งสำคัญคือตัวเลขเฉลี่ยรายได้ของประชาชน ที่วันนี้ต้องดูตัวเลขความยากจนรายอาชีพ ว่าแต่ละอาชีพควรจะมีรายได้เท่าไร ที่จะสามารถจะดำรงชีพอยู่ได้ ซึ่งจะต้องสอดคล้องกันทั้งหมด โดยการแก้ปัญหาความยากจนที่สำคัญที่สุดคือการแก้ปัญหารายครัวเรือน และรายกลุ่มอาชีพ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวชื่นชมการจัดทำ (ร่าง) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ฯ โดย สศช. ที่ได้จัดทำมาเป็นอย่างดี โดยในการทำงานตามแผนพัฒนาฯ ภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน ประชาสังคม ต้องร่วมมือกันทั้งหมด เพื่อให้การดำเนินงานตามแผนได้สำเร็จ พร้อมกล่าวขอบคุณวุฒิสภาที่ได้ให้คำแนะนำและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา

คณะกรรมการฯ พิจารณาให้ความเห็นชอบเรื่องสำคัญ จำนวน 2 เรื่อง ดังนี้

  1. เห็นชอบหลักการ แนวทาง และการดำเนินการปรับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สำนักงานฯ) ในฐานะสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเสนอ โดยหลักการการปรับแผนแม่บทฯ เป็นการดำเนินการตาม พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 มาตรา 10 วรรค 4 บัญญัติให้ในกรณีที่คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติเห็นว่ามีความจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมแผนแม่บท ให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงหรือความจำเป็นของประเทศ

อย่างไรก็ตาม สำหรับการทบทวนยุทธศาสตร์ชาติตามนัยของมาตรา 11 ของ พ.ร.บ. ดังกล่าว สถานการณ์ และการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ได้ส่งผลต่อวิสัยทัศน์ของยุทธศาสตร์ชาติแต่อย่างใด เนื่องด้วยยุทธศาสตร์ชาติเป็นกรอบการพัฒนาประเทศที่มีประเด็นการพัฒนาที่ครอบคลุมในทุกมิติของการพัฒนา มีความยืดหยุ่นตามบริบทการเปลี่ยนแปลงของโลกและประเทศ พร้อมรองรับผลกระทบเชิงลบในมิติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ดังนั้น จะยังคง “เป้าหมาย” ตามยุทธศาสตร์ชาติไว้เช่นเดิม แต่จะมีการปรับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (Ways) ซึ่งเป็นแผนระดับที่ 2 ที่มีการบูรณาการระหว่างยุทธศาสตร์ชาติด้านที่เกี่ยวข้อง โดยมีการถ่ายระดับเป้าหมายและประเด็นการพัฒนามาจากยุทธศาสตร์ชาติ (Ends) โดยตรง รวมทั้งมีการกำหนดค่าเป้าหมายของแต่ละประเด็นที่จะต้องบรรลุอย่างเป็นรูปธรรมในแต่ละห้วงการพัฒนา ห้วงละ 5 ปี เพื่อที่หน่วยงานของรัฐจะได้นำไปใช้ประกอบการจัดทำแผนระดับที่ 3 และโครงการ/การดำเนินงานให้สอดคล้องกันต่อไป

ทั้งนี้ ที่ประชุมร่วมคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติเห็นชอบให้สำนักงานฯ ดำเนินการตามแนวทางการปรับแผนแม่บทฯ ด้วยแล้ว เพื่อให้การขับเคลื่อนการดำเนินการสามารถบรรลุผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติได้อย่างเป็นรูปธรรมตามระยะเวลาที่กำหนด สำหรับแนวทางการปรับแผนแม่บทฯ จะดำเนินการปรับเฉพาะเป้าหมายระดับแผนแม่บทย่อยที่อาจไม่ส่งผลต่อเป้าหมายระดับประเด็น ตัวชี้วัด ที่ไม่ได้มีหน่วยงานจัดเก็บ หรือที่ยกเลิกจัดเก็บ หรือไม่ได้มีการจัดเก็บที่ต่อเนื่อง ค่าเป้าหมาย เฉพาะบางเป้าหมายที่บรรลุเป้าหมายไปแล้ว หรือค่าเป้าหมายที่ยังไม่ได้มีการกำหนด หรือกำหนดไม่ชัดเจน และแนวทางการพัฒนาเฉพาะบางแนวทางที่ยังไม่สะท้อนการบรรลุเป้าหมาย

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บ พัฒนา ปรับปรุงข้อมูลให้สามารถนำไปใช้พัฒนาจัดทำตัวชี้วัดที่สามารถสะท้อนการพัฒนาตามเป้าหมายของแผนได้อย่างครอบคลุม ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำในเรื่องการจัดทำตัวชี้วัดที่สามารถสะท้อนการดำเนินงานของหน่วยงานในลักษณะเชิงบูรณาการ เพื่อนำไปสู่การจัดสรรงบประมาณของหน่วยงานต่อไป

  1. เห็นชอบ (ร่าง) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570) ซึ่งเป็นแผนระดับที่ 2 ที่ระบุทิศทางและเป้าหมายการพัฒนาประเทศที่ครอบคลุมเฉพาะประเด็นการพัฒนาประเทศที่มีลำดับความสำคัญสูง โดยมีแนวคิดที่สำคัญ 4 ประการ ได้แก่ 1) หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 2) การสร้างความสามารถในการ “ล้มแล้ว ลุกไว” มุ่งเน้นการพัฒนาความสามารถในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลง ประกอบด้วย การพร้อมรับ หรือ ระดับ “อยู่รอด” การปรับตัว หรือ ระดับ “พอเพียง” และ การเปลี่ยนแปลงเพื่อพร้อมเติบโตอย่างยั่งยืน หรือ ระดับ “ยั่งยืน” 3) เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของแนวคิด “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” และ 4) การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว เพื่อ พลิกโฉมประเทศไทยสู่ “สังคมก้าวหน้า เศรษฐกิจสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน”

โดยมีเป้าหมายหลักที่ต้องการบรรลุผล 5 ประการ 1) การปรับโครงสร้างการผลิตสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม 2) การพัฒนาคนสำหรับโลกยุคใหม่ 3) การมุ่งสู่สังคมแห่งโอกาสและความเป็นธรรม 4) การเปลี่ยนผ่านการผลิตและบริโภคไปสู่ความยั่งยืน และ 5) การเสริมสร้างความสามารถของประเทศในการรับมือกับความเสี่ยงและการเปลี่ยนแปลงภายใต้บริบทโลกใหม่ ร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 จำแนกออกเป็น 4 มิติ 13 หมุดหมายการพัฒนาฯ เพื่อถ่ายทอดเป้าหมายหลักไปสู่การขับเคลื่อนที่ชัดเจน

ทั้งนี้ หลังจากที่คณะกรรมการฯ เห็นชอบ (ร่าง) แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 แล้วสำนักงานฯ จะดำเนินการเสนอต่อคณะรัฐมนตรี รัฐสภาและนำทูลขึ้นเกล้าฯ โดยคาดว่าจะประกาศใช้แผนฯ ได้ภายในเดือนตุลาคม 2565 ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานศึกษาและทำความเข้าใจแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 เพื่อสามารถเชื่อมโยงความเกี่ยวข้องสู่แผนระดับ 3 ของหน่วยงานในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน และสำนักงบประมาณพิจารณาจัดสรรงบประมาณแบบพุ่งเป้า/บูรณาการให้เกิดการขับเคลื่อนในระดับประเทศอย่างเป็นรูปธรรม