วันนี้ (21 ก.พ.) เมื่อเวลา 08.30  น. ที่ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการ และคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ได้จัดประมูล คลื่นความถี่ในระบบเอฟเอ็ม สำหรับการให้บริการกระจายเสียง ประเภทกิจการบริการทางธุรกิจ โดยมี พลเอก สุกิจ ขมะสุนทร ประธาน กสทช. เป็นประธาน พร้อมด้วย พันเอก ดร.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช. และ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช.  และ ตัวแทนจากผู้ประกอบการเอกชน จำนวน 30 บริษัท เข้าร่วมประมูล

โดยการประมูลคลื่นวิทยุเอฟเอ็มครั้งนี้ เป็นการเปลี่ยนระบบกิจการกระจายเสียงจากคลื่นของหน่วยงานรัฐเป็นระบบใบอนุญาต ซึ่งจะเริ่มมีผลวันที่ 4 เม.ย. 2565 ระยะเวลาใบอนุญาต 7 ปี   ซึ่งมีการนำคลื่นมาประมูลทั้งหมด 71 คลื่นความถี่ จากที่ได้ประกาศจำนวน 74 คลื่นความถี่ เนื่องจากอีก 3 คลื่นความถี่ที่เหลือ คือ พื้นที่ กทม. คลื่น 97.5 และ จ.พังงา คลื่น 91.75 มีผู้สนใจยื่นประมูล แต่ไม่มาวางหลักประกัน และ พื้นที่ จ.สตูล คลื่น 99.5 ไม่มีคนสนใจเข้าประมูล

ด้าน พันเอก ดร.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช. กล่าวว่า การประมูลคลื่นวิทยุครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกของไทย โดยราคาตั้งต้นจะเริ่มที่ 105,000 บาท เป็นราคาที่ศึกษาและพิจารณาว่าเหมาะสมกับแต่ละพื้นที่และสภาพเศรษฐกิจ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายเล็กสามารถเข้ามาแข่งขันและมีโอกาสได้รับใบอนุญาตได้ โดยคาดว่าในการประมูลครั้งนี้ คาดสร้างรายได้เข้ารัฐไม่น้อยกว่า 402 ล้านบาท สำหรับสามคลื่นที่ไม่ได้ประมูล ก็จะมีการนำเข้าพิจารณาในบอร์ด กสทช. ว่าจะมีการนำมาเปิดประมูลใหม่ หรือ นำไปใช้ประโยชน์เพื่อสาธารณะ สำหรับในอนาคต หากหน่วยงานรัฐอื่นที่ถือครองคลื่นมีความประสงค์จะคืนคลื่นเพิ่ม ก็อาจจะมีการนำมาประมูลเพิ่มอีกในอนาคต

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการเปิดประมูล 71 คลื่นความถี่ แบ่งเป็นความถี่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 8 คลื่นความถี่, ภาคเหนือ จำนวน 16 คลื่นความถี่, ภาคกลาง จำนวน 6 คลื่นความถี่, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 21 คลื่นความถี่ และภาคใต้ จำนวน 20 คลื่นความถี่  ส่วนบริษัทเอกชนที่สนใจร่วมประมูล 30 บริษัท มีบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เข้าร่วมประมูลมากสุดจำนวน 55 คลื่น เป็น กทม. 6 คลื่น ต่างจังหวัด 49 คลื่น

สำหรับราคาเริ่มต้นพื้นที่ต่างจังหวัดอยู่ที่ 105,000-3.19 ล้านบาท ส่วนราคาเริ่มต้น กทม. และปริมณฑล อยู่ที่ 36.38-54.83 ล้านบาท  โดยมีช่วงการเคาะราคาในแต่ละครั้ง คือ คลื่นความถี่ตั้งต้น 1-3.99 แสนบาท เคาะเพิ่มครั้งละ  4,000 บาท, ราคา 4-9.99 แสนบาท เคาะเพิ่มราคา 20,000 บาท, ราคา 1-9.99 ล้านบาท เคาะเพิ่ม 50,000 บาท, ราคา 10-19.99 ล้านบาท เคาะเพิ่ม  200,000 บาท, ราคา 20-29.99 ล้านบาท เคาะเพิ่มครั้งละ 300,000 บาท, ราคา 30-33.99 ล้านบาท เคาะเพิ่ม 400,000 บาท และ ราคา 40-60 ล้านบาท เคาะเพิ่ม 500,000 บาท

ส่วนขั้นตอนการประมูล มีกำหนดระยะเวลาการประมูล 60 นาทีต่อคลื่นความถี่ แบ่งผู้ประมูลเป็น 4 รอบ โดยผู้เข้าร่วมการประมูลจะต้องเสนอราคาแรกภายใน 5 นาทีแรกของการประมูล หากไม่เสนอจะถือว่าไม่ประสงค์ในการเข้าประมูล จะถูกตัดสิทธิและริบหลักประกัน หากมีผู้เข้าร่วมประมูลเสนอราคาเท่ากัน จะขยายเวลาการประมูลออกไปอีกครั้งละ 5 นาที หากไม่มีการเสนอราคาเพิ่ม จะให้ผู้เข้าร่วมประมูลที่เสนอราคาเท่ากัน จับสลากเพื่อหาผู้มีสิทธิ เป็นผู้เสนอราคาสูงสุด

ทั้งนี้ หลังการประมูลเสร็จสิ้นในช่วงเย็นประมาณ 17.00 น. จะมีการประชุม กสทช. เพื่อรับรองผลการประมูลและสำนักงาน กสทช. จะประกาศรายชื่อผู้ชนะการประมูล ผู้ชนะจะต้องชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เท่ากับราคาที่ชนะการประมูลรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ภายใน 30 วัน หรือภายในวันที่ 24 มี.ค. 2565 หากไม่ชำระให้ครบถ้วนตามเวลาที่กำหนดจะถูกริบหลักประกันและห้ามเข้าร่วมการประมูล 2 ปี พร้อมทั้งชดใช้ค่าเสียหายในกรณีที่ต้องจัดประมูลใหม่

หลังจากนั้น ผู้ชนะการประมูลจะต้องแจ้งข้อมูลสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับบริการด้านกระจายเสียง เช่น ข้อมูลเสา ระบบสาย หรืออุปกรณ์ที่ใช้ เป็นต้น เพื่อประกอบการพิจารณาอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ และยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการและคำขอรับใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งการเป็นผู้ชนะการประมูล