นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมติดตามนโยบายเรื่อง การเร่งรัดสร้างสรรค์พื้นที่เพื่อสาธารณประโยชน์ให้ประชาชน ผ่านแอพพลิเคชั่น Zoom ว่า  การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.), บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้นำพื้นที่มาทำประโยชน์ให้กับประชาชน ดังนี้ 1. กทท. นำพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง มาพัฒนาเป็นพื้นที่สำหรับพัฒนาอาชีพ และเสริมรายได้ให้กับชุมชน รวมถึงเป็นสถานที่สำหรับกิจกรรมสันทนาการ อาทิ ตลาดปลา ร้านค้า สนามกีฬา อาคารอเนกประสงค์ และท่าเรือท่องเที่ยว ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการจ้างออกแบบรายละเอียดและจัดทำเอกสารประกวดราคา

2. ทอท. นำพื้นที่ในท่าอากาศยานมาจัดสรรเป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ ดังนี้ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จัดสรรพื้นที่ทำ “สนามลู่ปั่นจักรยานเจริญสุขมงคลจิต”, ท่าอากาศยานหาดใหญ่ จัดสรรพื้นที่ภายนอกเขตรักษาความปลอดภัย ให้ประชาชนใช้เป็นพื้นที่ออกกำลังกาย และท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง จัดสรรพื้นที่ให้จังหวัดเชียงราย ปรับปรุงพื้นที่เป็นเลนจักรยาน และ 3. รฟท. นำพื้นที่มาปรับปรุงเป็นสวนสาธารณะ และห้องสมุด แบ่งเป็น งานปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณสะพานดำรถไฟ จ.ลำปาง ได้ดำเนินการระยะที่ 1 โดยเปิดให้ประชาชนใช้บริการแล้ว และมีแผนดำเนินการระยะที่ 2 ต่อไป

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ได้จัดทำห้องสมุดรถไฟเพื่อประชาชนสถานีรถไฟลำปลายมาศ เปิดให้บริการประชาชนเมื่อปี 53, ห้องสมุดการรถไฟเพื่อประชาชนบริเวณย่านสถานีบุรีรัมย์ เปิดให้บริการประชาชนเมื่อปี 52, ห้องสมุดการรถไฟเพื่อประชาชนสถานีหนองคาย เปิดให้บริการประชาชนเมื่อปี 52, สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ (รัชกาลที่ 5) สถานีชุมทางทุ่งสง เปิดให้บริการประชาชนเมื่อปี 42, สวนสาธารณะและห้องสมุดสถานีรถไฟกันตัง เปิดให้บริการประชาชนเมื่อปี 53, ที่หยุดรถพ่อท่านคล้ายวาจาสิทธิ์ เปิดให้บริการประชาชนเมื่อปี 63 และปรับปรุงภูมิทัศน์และห้องสมุดรถไฟสุไหงโก-ลก เปิดให้บริการประชาชนเมื่อปี 53

นายศักดิ์สยาม กล่าวด้วยว่า ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยให้ รฟท. เร่งศึกษาการใช้พื้นที่เพื่อสาธารณประโยชน์ บริเวณแนวเส้นทางรถไฟ ช่วงบางซื่อ–สถานีหัวลำโพง และการใช้ประโยชน์สถานีหัวลำโพง โดยมีแผนปฏิบัติการที่ชัดเจน พร้อมทั้งให้ กทท. ทอท. รฟท. และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) จัดทำแผนปฏิบัติการ (แอ๊คชั่นแพลน) ในการดำเนินงานพัฒนาพื้นที่ที่ชัดเจน เพื่อแปรนโยบายไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

นอกจากนี้ให้ รฟท. พิจารณาบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานท้องถิ่น หรือหน่วยงานอื่นๆ เช่น มหาวิทยาลัยในพื้นที่ ในการพัฒนาพื้นที่เพื่อสาธารณประโยชน์ เพื่อลดภาระด้านงบประมาณของหน่วยงาน รวมถึงเป็นการพัฒนาพื้นที่ตามความต้องการของประชาชน อย่างไรก็ตามในการดำเนินการพัฒนาพื้นที่ของหน่วยงาน อาจพิจารณาเรื่องการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ประกอบด้วย เพื่อให้การบำรุงรักษาไม่เป็นภาระต่อหน่วยงาน พร้อมกันนี้ได้ให้ กทพ. และ รฟท. บูรณาการความร่วมมือในการพัฒนาพื้นที่บริเวณริมทางพิเศษ ช่วงเพลินจิต-พระราม 4 ให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมโดยเร็วด้วย.